สิ่งก่อสร้างภายในวัด ของ วัดกะพังสุรินทร์

พระอุโบสถ

ภายในวัดมีพระอุโบสถเป็นสถาปัตยกรรมท้องถิ่นภาคใต้ เสาไม้ฝาก่ออิฐถือปูน หลังคาหน้าจั่วต่างๆ ระดับสองชั้น กว้าง 9.50 เมตร ยาว 15.40 เมตร วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2480 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 24 เมตร ยาว 36 เมตร อุโบสถถูกสร้างขึ้นในสมัยพระอธิการแย้มเป็นเจ้าอาวาส และสร้างเรื่อยมาจนถึงพระอธิการเพื่อม ผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 ตรงกับวันอาทิตย์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีกุน (ปีนี้เป็นอธิกมาส) โครงสร้างเสาไม้ ฝาผนังหล่อปูน หลังคา 2 ชั้น มุงกระเบื้องปูนชนิด 4 เหลี่ยม ต่อมาชำรุดไปตามกาลเวลา ซึ่งในปี พ.ศ. 2525 จัดการบูรณะเสียใหม่ในส่วนหลังคาในสมัยพระพรหมจริยาจารย์ (ครั้งดำรงสมณศกดิ์ที่พระปิฎกคุณาภรณ์) เป็นเจ้าอาวาส พ.ศ. 2525 รูปทรงยังคงรูปเดิมไว้ กระเบื้องหลังคาเปลี่ยนเป็นกระเบื้องลอนเล็กใช้มาจนถึงปัจจุบัน เพราะความเก่าแก่มานาน กรมศิลปากรจึงขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2542[2] มีพื้นที่ 1 งาน 94 ตารางวา

ศาลาการเปรียญ

ศาลาการเปรียญ กว้าง 11 เมตร ยาว 18 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2495 สมัยพระอธิการเพื่อม เป็นเจ้าอาวาส โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ใช้งานมาเป็นเวลาหลายปีจนชำรุดไปตามสภาพ ต่อมาภายหลังสมัยพระพรหมจริยาจารย์ เป็นเจ้าอาวาส รื้อออกสร้างใหม่ในนามเดิม กว้าง 17 เมตร ยาว 28 เมตร เป็นอาคาร 2 ชั้น[3]