ถาวรวัตถุ ของ วัดดุสิดารามวรวิหาร

ถาวรวัตถุของวัดที่มีอยู่ในบัดนี้ คือพระอุโบสถ เสาและฝาผนังถึงขื่อก่ออิฐถือปูน เครื่องบนทำด้วยไม้หลังคาลด ๓ ชั้น มีช่อฟ้าใบระกา มุงด้วยกระเบื้องดินเผาธรรมดาเข้าใจว่าเป็นแบบทรงอยุธยา วัดภายนอก เฉพาะตัวพระอุโบสถ ยาว ๒๒.๑๐ เมตร กว้าง ๑๐.๑๐ เมตร พะไล2 ด้านหน้าและด้านหลังพระอุโบสถยาวด้านละ ๔.๑๐ เมตร กว้าง ๑๐.๑๐ เมตร ภายในตัวพระอุโบสถ ยาว ๑๙.๕๒ เมตร กว้าง ๗.๙๒ เมตร สูงจากพื้นถึงท้องขื่อ ๙.๕๗ เมตร ภายในพะไล ๒ ข้าง ยาวข้างละ ๓.๓๖ เมตร กว้าง ๙.๘๐ เมตรเท่ากัน

หน้าบันพระอุโบสถทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ตอนล่างก่ออิฐถือปูน ตอนบนใช้ไม้แกะสลักเป็นลวดลายก้านขดมีเทวดาถือพระขรรค์ประทับนั่งบนแท่น อยู่ท่ามกลางลงรักปิดทอง ประดับกระจกเหมือนกันทั้ง ๒ ข้าง

ชุ้มประตูด้านหน้าด้านหลังพระอุโบสถ ภายในพะไลแลซุ้มหน้าต่างภายนอกด้านข้างทั้ง ๒ ของพระอุโบสถ ทำลวดลายด้วยปูน มีช่อฟ้าใบระกา ปิดกระจก บานประตูและหน้าต่างพระอุโบสถด้านนอก พื้นลงรักเรียนลายรดน้ำ3 ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ แต่ที่หน้าต่างลบเลือนไปหมดแล้ว ยังเหลือปรากฏอยู่ที่บานประตูบ้างเพียงบางส่วน

ภายในพะไลด้านหน้าและด้านหลัง ที่เสาพะไลและที่ฝาผนังพระอุโบสถข้างนอกเขียนด้วยสีเป็นลายรดน้ำทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ส่วนเหนือเสาพะไลขึ้นไปเขียนภาพต่างๆ ข้างพะไลด้านหน้ายังปรากฏอยู่บ้าง แต่ทางด้านหลังชำรุดลบเสียหมดแล้ว ภายในพระอุโบสถ ที่กำแพงฝาผนังทั้ง ๔ ด้านของพระอุโบสถ มีภาพเขียนฝีมือช่างในรัชกาลที่ ๑ เขียนไว้เป็นตอนๆ คือ ตั้งแต่พื้นพระอุโบสถขึ้นไปถึงขอบธรณีล่างของหน้าต่าง เขียนภาพต้นไม้ดอกไม้ไว้โดยรอบทั้ง ๔ ด้าน ตั้งแต่เหนือขอบธรณีล่างขึ้นไปถึงขอบธรณีบนของหน้าต่างเขียนภาพพระพุทธประวัติไว้ ๓ ด้าน คือ ที่กำแพงด้านหน้าและด้านข้างทั้ง ๒ ของพระอุโบสถ ส่วนที่กำแพงด้านหลังในระดับนี้ เขียนภาพยมโลก ตั้งแต่ขอบธรณีบนขึ้นไปเขียนภาพเทพชุมนุม ๓ ชั้นไว้ที่ฝาผนังด้านข้างทั้ง ๒ ส่วนที่ฝาผนังด้านหน้าในระดับเดียวกัน เขียนภาพมารวิชัย ที่ฝาผนังด้านหลังเขียนภาพมนุษยโลกและเทวโลกที่บานหน้าต่างทุกบาน มีภาพเทวรูปยืนประนมมืออยู่บนแท่น และที่บานประตูทุกบาน มีภาพยักษ์แบกแท่นซึ่งมีเทวรูปยืนประนมมืออยู่เบื้องบน

เหนือธรณีข้างบนตรงช่องประตูและหน้าต่างทุกช่อง มีฉากภาพแกะสลักด้วยไม้สักเป็นรูปดอกไม้ทารักปิดทอง ภายในฉากมีภาพเขียนเรื่องพระสมุทโฆษรวม ๒๖ รูป ข้างฐานชุกชีหน้าพระประธาน มีโต๊ะบูชาหมู่ ๗ ทำด้วยไม้แกะสลักเป็นรูปดอกไม้ปิดทอง

รอบนอกจากลานพระอุโบสถ มีพระระเบียงรายรอบทั้ง ๔ ด้าน วัดรอบนอก ยาว ๖๒.๒๐ เมตร กว้าง ๔๒.๒๕ เมตร

วิหาร ๑ หลัง หอระฆัง ๑ หอ ศาลา ๑ หลัง กุฏิ ๘ หลัง ครัว ๒ หลัง

2 พะไล – พื้นเรือนหรือพื้นอาคาร ที่ต่อออกจากด้านหัวและท้ายเรือน หรืออาคาร แล้วทำหลังคาคลุม หลังคานี้ลาดเทออกไปจากใต้กันสาดของอาคารใหญ่ ลักษณะของพะไล จะไม่มีฝากั้นปล่อยเปิดโล่งไว้

3 ลายรดน้ำ คือ การเขียนลวดลายให้ปรากฏเป็นลายทอง ด้วยวิธีปิดทองแล้วเอาน้ำรด การเขียนลายจะใช้น้ำยาหรดาล เขียนบนพื้น ซึ่งทาด้วยยางจากต้นรัก เขียนเสร็จเช็ดรักออก ปิดทองแล้วเอาน้ำรดน้ำยาหรดาล ซึ่งจะหลุดออกเมื่อถูกน้ำ ส่วนที่เป็นลายทองจะติดอยู่ ลวดลายที่ปรากฏหลังการรดน้ำแล้ว จะเป็นสีทองเพียงสีเดียว บนพื้นสีดำหรือแดง

ใกล้เคียง

วัดดุสิดารามวรวิหาร วัดดุสิดาราม วัดดุลยาราม วัดคุ้งตะเภา วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร วัดสุทธิวราราม วัดทุ่งศรีเมือง วัดพุทไธศวรรย์