หลวงพ่อสัมฤทธิ์ ของ วัดนาโคก

ประวัติของหลวงพ่อสัมฤทธิ์ กล่าวกันว่าในสมัยกรุงธนบุรี มีชายสองคนได้นำเกลือจากนาโคกขึ้นขายที่ทางเหนือและซื้อข้าวกลับมาขายที่นาโคก ระหว่างทางล่องเรือกลับได้จอดเรือแวะพักที่พระนครศรีอยุธยา ได้เดินลึกเข้าไปก็พบวัดร้างแห่งหนึ่งซึ่งมีพระพุทธรูปสัมฤทธิ์อยู่สององค์ ขนาดไม่ใหญ่นัก องค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย อีกองค์เป็นพระพุทธรูปประทับยืนปางห้ามสมุทร ทรงเทริดสมัยอยุธยา พอจะเดินกลับปรากฏไม่สามารถหาทางกลับได้ ยังวนเวียนอยู่ในวัดร้างแห่งนั้น ทั้งสองคนจึงปรึกษากันว่าอาจจะเป็นเพราะพระพุทธรูปทั้งสององค์ก็เป็นได้ จึงเดินไปกราบที่พระพุทธรูปแล้วก็คิดว่าถ้าหากนำพระพุทธรูปทั้งสององค์กลับมาด้วยอาจจะกลับเรือได้ ทั้งสองจึงอุ้มพระพุทธรูปทั้งสองกลับมายังเรือได้ และได้นำพระพุทธรูปทั้งสององค์มาประดิษฐานที่วัดนาโคก โดยท่านเจ้าอาวาสในสมัยนั้นได้นำพระพุทธรูปทั้งสององค์ไปประดิษฐานที่หอไตร จนเวลาผ่านไปหลายปี ก็ลืมไปว่ามีพระพุทธรูปสององค์อยู่ที่หอไตร

จนวันหนึ่ง หมู่บ้านนาโคกได้มีการแก้บนศาลเจ้าแห่งหนึ่ง มีการจัดมหรสพทั้งลิเกและละครครั้งใหญ่กว่าทุกครั้ง ทำให้สถานที่ไม่เพียงพอ เจ้าภาพจึงได้ไปขออนุญาตเข้าไปใช้พื้นที่จัดในวัดนาโคก ได้เกิดปาฏิหาริย์คือ พระพุทธรูปปางห้ามสมุทรซึ่งประดิษฐานบนหอไตรได้เสด็จลงมาอยู่ข้างล่างโดยมิได้มีใครนำลงมา อีกทั้งคณะลิเกและคณะละครต่างก็เกิดอาการจุกเสียดจนไม่สามารถแสดงได้ ชาวบ้านจึงได้บอกให้นำธูปเทียนมาบูชากล่าวขอขมาลาโทษเสีย จากนั้นคณะลิเกและละครต่างก็หายจุกเสียดเป็นอัศจรรย์ จากนั้นมาชาวบ้านก็ต่างกราบไหว้บูชาพระพุทธรูปองค์นี้ เป็นที่โจษขานกันต่อมาในความศักดิ์สิทธิ์[4]