อาคารเสนาสนะและภาพจิตรกรรมฝาผนัง ของ วัดบางขุนเทียนนอก

อุโบสถของวัดมีขนาด 7 ห้อง หลังคาซ้อนชั้น ชั้นลด 3 ชั้น ทั้งด้านหน้าและด้านหลังมีหลังคาบังสาดหรือที่เรียกว่า จันหับ รอบอุโบสถมีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีซุ้มประตู 4 ด้าน และมีเจดีย์ทรงปรางค์ประจำมุม องค์เจดีย์มีลักษณะโปร่งเพรียว (คาดว่าสร้างสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น) หน้าบันอุโบสถไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ประดับด้วยเครื่องเคลือบกระเบื้องสีแบบจีน แสดงภาพธรรมชาติ ตามแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 เสาหลังคาบังสาดประดับบัวหัวเสา ชายคามีคันทวยรับน้ำหนัก ซุ้มประตูประดับปูนปั้น มีลวดลายสอดคล้องกับหน้าบัน อันเป็นศิลปกรรมอย่างเทศ วิหารหลวงพ่อทวด มีรูปหล่อหลวงปู่ทวดขนาดใหญ่ตั้งบนดาดฟ้า[3]

ภาพจิตรกรรมฝาผนังชำรุดมาก ภาพอยู่เหนือช่องประตูด้านหลังพระประธาน เขียนเรื่องพุทธประวัติ น่าจะเขียนราวรัชกาลที่ 3 ส่วนผนังด้านข้าง ระหว่างช่องหน้าต่า ภาพชำรุดมาก ภาพวาดเหนือช่องหน้าต่าง เป็นภาพวาดกิจของสงฆ์ เชื่อว่าเป็นงานเขียนซ่อมแทนที่จิตรกรรมเดิม มีฝีมือด้อยกว่าภาพพุทธประวัติด้านหลังพระประธาน จุดเด่นที่สำคัญของภาพจิตรกรรมฝาผนัง คือ มีภาพบุรุษกับสตรีคู่กันหลายชาติ ได้แก่ สตรีชาวเกาหลีกับบุรุษชาวอาหรับ, สตรีกับบุรุษชาวดอดชิ (ดัตช์), สตรีชาวไทยกับบุรุษชาวไทย, สตรีชาวลาวยวนกับบุรุษชาวจาม, สตรีชาวกระแชกับบุรุษชาวแอฟริกา, สตรีชาวหุ้ยหุยกับบุรุษชาวแขกปะถ่าน (ปาทาน) และพราหมณ์รามเหศร์กับสตรี[4]

ใกล้เคียง

วัดบางกุ้ง วัดบางโคล่นอก วัดบางแคใหญ่ วัดบางบอน (กรุงเทพมหานคร) วัดบางพลีใหญ่ใน วัดบางโพโอมาวาส วัดบางเพ็งใต้ วัดบางประทุนนอก วัดบางปิ้ง (จังหวัดสมุทรปราการ) วัดบางอ้อยช้าง