ประวัติ ของ วัดบ้านโป่ง

วัดบ้านโป่ง คำว่า “โป่ง” มาจากคำว่า “ดินโป่ง” ซึ่งเป็นดินที่มีรสเค็มและเป็นอาหารมีรสอันโอชะของสัตว์นานาชนิด เดิมเขตอำเภอบ้านโป่งนี้เป็นป่าใหญ่เต็มไปด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด เป็นที่อยู่ของสัตว์น้อยใหญ่ทั้งหลายและยังมีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน จึงนับได้ว่าดินแดนแถบนี้อุดมสมบูรณ์ เมื่อมีคนมาอาศัยดินแดนแถบนี้ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยเป็นหมู่บ้าน หมู่บ้านนี้จึงเรียกชื่อตามลักษณะดินในแถบนี้ว่า “บ้านโป่ง” และเมื่อมีวัดเกิดขึ้นก็เรียกชื่อวัดตามหมู่บ้านนั้นว่า “วัดบ้านโป่ง”

วัดบ้านโป่ง เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง ซึ่งมีอายุนานเกือบ ๒๐๐ ปี ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งไม่ห่างจากสถานีรถไฟเท่าใดนัก เนื้อที่รอบๆ บริเวณวัดประมาณ ๕๐ กว่าไร่ มีประวัติความเป็นมาตามที่ผู้เฒ่าได้เล่าสืบต่อๆ กันมาพอจะจับใจความได้ดังนี้ เดิมทีได้มีพระภิกษุลาวรูปหนึ่ง ได้มาสร้างกระท่อมมุงด้วยแฝกและได้จัดตั้งเป็นสำนักสงฆ์ขึ้นหากแต่ที่วัดบ้านโป่ง นั้นเต็มไปด้วยป่าไม้ใบหนา เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิด เต็มไปด้วยภัยอันตรายมาก จึงไม่มีผู้ใดอาศัยอยู่ ต่อมาจึงเสื่อมโทรมลงและไม่มีผู้ใดทราบว่าพระภิกษุลาวรูปนั้นไปไหนและที่ใด

ต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓ เมืองหงสาวดีเกิดความปั่นป่วนขึ้น เนื่องจากภัยทางสงคราม ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างพม่ากับอังกฤษ เป็นเหตุให้ชาวรามัญพากันอพยพหลบภัยแล้วข้ามมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระมหากษัตริย์ไทย โดยเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์บ้าง ด่านสิงขรบ้าง และได้เข้ามาตั้งรกรากทำมาหากินกันเป็นหมู่ๆ ตามแถบฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ในครั้งกระนั้นก็ได้มีพระภิกษุชาวรามัญรูปหนึ่งที่ได้อพยพหลบภัยสงครามเข้ามาในเมืองไทยด้วย พระภิกษุรามัญรูปนั้นชื่อว่า “พระภิกษุด่าง” หลวงพ่อด่างได้เข้ามาในสภาพที่เป็นพระสงฆ์ จึงไม่อาจจะอยู่ในหมู่บ้านรามัญร่วมกับเขาได้ จึงได้มาหาที่พำนักใหม่และได้มาปลูกกระท่อมมุงแฝก ณ ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งเดิมเป็นสำนักสงฆ์เก่าที่รกร้างไปแล้วนั้น หลวงพ่อด่างได้นำพระธาตุจากเมืองย่างกุ้งติดตัวมาด้วย และเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความหลังให้ระลึกถึงมาตุภูมิเดิม หลวงพ่อด่างจึงได้สร้างเจดีย์ขึ้นองค์หนึ่งมี ๕ ยอด คล้ายกับเจดีย์ชะเวดากองที่เมืองย่างกุ้ง เจดีย์องค์นี้ประชาชนทั่ว ๆ ไปเรียกกันว่า“เจดีย์ ๕ ยอด” อันเป็นปูชนีสถานอันศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่ของวัดบ้านโป่งนี้ด้วย