อาคารเสนาสนะ ของ วัดป่ากลางทุ่ง

อุโบสถเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ทรงโถง หลังคามุงกระเบื้อง ไม่มีช่อฟ้า ใบระกามีชายคากันฝนด้านหน้า หน้าบันเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณประกอบลายช่อดอกไม้ ติดกระเบื้องถ้วยเบญจรงค์ประดับที่ดอก อันเป็นรูปแบบที่นิยมในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว[1] ประตูหน้าต่างเจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยมตกแต่งอย่างเรียบง่าย ซุ้มประตูแต่งลายปูนปั้นเป็นรูปเทพนม ซุ้มหน้าต่างแต่ละบานตกแต่งลายปูนปั้นต่าง ๆ กัน สีมาเป็นปูนปั้นสลักลวดลายตั้งอยู่บนฐานบัว มีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ทาสีทองอยู่ 2 องค์เบื้องหน้าอุโบสถ สันนิษฐานว่าคงจะบรรจุอัฐิธาตุผู้สร้างอารามแห่งนี้

พระพุทธรูปในอุโบสถที่เก่าแก่นั้นได้ถูกโจรขโมยไปนานแล้ว ภาพจิตรกรรมฝาผนังมีเรื่องราวทศชาติชาดก เขียนด้วยสีที่สกัดจากพืชและสารตามธรรมชาติ แต่มีสภาพชำรุดทรุดโทรม บริเวณผนังด้านหลังพระประธานเป็นภาพอดีตพระพุทธเจ้าประทับนั่งในซุ้มเรือนแก้วปางมารวิชัย ฐานชุกชีประดับด้วยกระหนกใบเทศ ผ้าทิพย์ปูลาดลง ด้านหน้าประดับด้วยดอกบัวและลายประจำยาม พื้นผนังลงด้วยสีแดง บางส่วนมีการลงรักปิดทอง ระหว่างหน้าต่างด้านข้างเป็นภาพพุทธประวัติเขียนเป็นตอน ๆ สลับกันไป ส่วนฝาผนังด้านสกัดไม่ปรากฏจิตรกรรม[2]

อุโบสถหลังใหม่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2530 เป็นอาคารทรงไทย หลังคามุงกระเบื้องซ้อน 2 ชั้น มีปีนกลาดลงด้านละ 2 ตับ ซุ้มประตูและหน้าต่างทรงมงกุฎ มีพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรอยู่กลางซุ้ม ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปเป็นพระประธานลักษณะเช่นเดียวกับพระพุทธชินราช หน้าตัก 40 นิ้ว สูง 50 นิ้ว ระหว่างอุโบสถเก่ากับอุโบสถใหม่เป็นที่ตั้งของศาลาการเปรียญหลังใหญ่ 2 ชั้น ก่ออิฐถือปูนทรงไทย สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2545 วัดยังมีศาลเจ้า โดยมีรูปเจ้าแม่กวนอิมอยู่เพียงรูปเดียว

วัดเป็นที่ตั้งของโรงเรียนพระปริยัติธรรม สร้างด้วยไม้ในรูปแบบของวัดมอญทั้งหลาย มีเสาหงส์อยู่ระหว่างบันไดทางขึ้นและมีอักขระรามัญที่ซุ้มประตู บนอาสน์สงฆ์ด้านในสุดมีพระพุทธรูปตั้งเป็นประธาน ด้านซ้ายเป็นภาพพระเวสสันดร