โบราณสถาน ของ วัดป่าแดงมหาวิหาร

เจดีย์วัดป่าแดงหลวงร้าง

เจดีย์วัดป่าแดงหลวง(ร้าง)

เจดีย์วัดป่าแดงหลวงร้างเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน ตั้งอยู่บริเวณทางด้านตะวันออกของวัดในส่วนที่มีพระสงฆ์จำพรรษา[10] เจดีย์องค์นี้สร้างขึ้นในปีพ.ศ. 1990 โดยพญาติโลกราชโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิพระราชมารดาและพระบิดาของพระองค์ ลักษณะประกอบของเจดีย์มีความสัมพันธ์กับเจดีย์ช้างล้อมศรีสัชชนาลัย ประกอบด้วยฐานเขียงทรงสี่เหลี่ยมซ้อนกันสองชั้นแล้วเคยปรากฏรูปปั้นช้างล้อมองค์เจดีย์ ลำตัวของช้างเหล่านั้นติดกับติดกับฐานเขียงทรงสี่เหลี่ยมแต่ปัจจุบันชำรุดหลุดร่วงไปหมดแล้ว ถัดจากฐานช้างล้อมเป็นฐานทรงแท่งรูปสี่เหลี่ยมยกสูง เจาะเป็นช่องซุ้มจระนำเป็นกรอบวงโค้งลักษณะคล้ายกรอบซุ้มหน้านางในศิลปะสุโขทัย โดยที่ช่องซุ้มนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปโดยรอบทั้ง 4 ด้าน ด้านละ 5ซุ้ม รวม 20 ซุ้ม ซึ่งมีลักษณะคล้ายกรอบซุ้มหน้านางในศิลปะสุโขทัยที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะลังกาซึ่งอิทธิพลของเจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัย อาจเข้ามาในล้านนาตั้งแต่การเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนาของพระสุมนเถระ พ.ศ. 1912 [11]

วิหารวัดป่าแดงหลวง

วิหารวัดป่าแดงหลวงตั้งหน้าไปทางด้านทางตะวันออก ตามสภาพในปัจจุบันได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์โดยครั้งสำคัญเมื่อ พ.ศ. 2523 เช่น การก่อผนังและหน้าต่างใหม่ การมุงหลังคาด้วยกระเบื้อง แต่ในส่วนศิลปกรรมตามสภาพเดิม เช่น หน้าบัน คันทวย รองรับเชิงชาย และลวดลายปูนปั้นประดับมณฑปปราสาทภายในวิหารมีลักษณะค่อนข้างสมบรูณ์[12]รวมถึงตัวผังพื้นของอาคารเป้นแบบดั้งเดิมของล้านนา ลักษณะตัววิหารเป็นอาคารเครื่องไม้ขนาดกว้าง 3 ห้อง ยาว 6 ห้อง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีลักษณะเป็นวิหารแบบปิดโดยมีการ ก่ออิฐฉาบปูนเป็นผนังทึบรอบตัวอาคาร มีการเจาะช่องหน้าต่าง ระหว่างห้องวิหารทุกห้อง สำหรับห้องท้ายวิหารเป็นผนังก่อทึบและเจาะช่องเพื่อทะลุถึง องค์มณฑปปราสาทที่สร้างท้ายวิหารเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปสำริด แผนผังของวิหารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสัมพันธ์กับหลังคาที่มี 2 ชั้น เป็นกระเบื้องดินเผาเคลือบสีน้ำตาล[13]

อุโบสถวัดป่าแดง

อุโบสถวัดป่าแดง

อุโบสถวัดป่าแดง ตั้งแยกอยู่ในบริเวณตอนล่าง ห่างจากบันไดนาคราวหนึ่งร้อยเมตร ทางด้านทิศตะวันออก ปัจจุบันอยู่ติดโรงแรมฟลอรัลอยาตนะเชียงใหม่[14] ตัวอุโบสถหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดเล็กตั้งอยู่บนเนินดิน[15] บริเวณหน้าบันตกแต่งด้วยลายแกะสลักไม้ โดยลายหน้าบันด้านทิศตะวันตกปรากฏลายแกะไม้ประดับกระจก เป็นภาพยักษ์ประกอบเถาวายก้านขด ป้านลมทั้งสองด้านเป็นรูปพญานาคประดับกระจก อุโบสถวัดป่าแดง ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างแต่จากรูปแบบศิลปกรรมน่าจะสร้างหลังจากวิหาร[16]

เจดีย์ทรงระฆัง

ด้านหลังวิหารวัดป่าแดงปรากฏเจดีย์ทรงระฆัง ที่ตัวระฆังได้ปรับรูปแบบอยู่ในผังแปดเหลี่ยม บนฐานปัทม์ อันเป็นเจดีย์ศิลปะล้านนา[17] แต่ไม่ปรากฏหลักฐานการก่อสร้าง[18] โดยร่องรอยที่ปรากฏในปัจจุบันได้ถูกปฏิสังขรณ์ไปมากแล้วเจดีดังกล่าวสันนิษฐานว่าอาจสร้างหรือปฏิสังขรณ์ในช่วงเวลาที่ครูบาศรีวิชัยมาพำนักที่วัดป่าแดง ตามเอกสารล้านนาราวกลางพุทธศตวรรษที่ 25 ได้กล่าวว่าครูบาศรีวิชัยได้ บรูณะซ่อมแซมในช่วงหลังที่ท่านได้มาปฏิสังขรณ์วัดสวนดอก รวมทั้งให้สร้างหอไตรขึ้นระหว่างซุ้มพระหลังวิหารกับเจดีย์[19]

เจดีย์ทรงปราสาท

เจดีย์ทรงปราสาทบนฐานปัทม์ มียอดเป็นทรงระฆังกลม ภายในองค์ธาตุเรือนธาตุนั้นเป็นห้องขนาดเล็กโดยปัจจุบันเป็นอาคารที่ใช้เป็นหอธรรม[20]หรือเก็บคัมภีร์ใบลาน เจดีย์ดังกล่าวไม่ปรากฏหลักฐานการสร้าง[21]แต่เมื่อพิจารณาจากรูปแบบศิลปกรรมเจดีย์ในปัจจุบันแม้จะได้ถูกปฏิสังขรณ์ไปมากแต่จากร่องรอยบางประการ เช่น การปรากฏการตกแต่งด้วยปูนปั้นประดับกระจกบริเวณองค์ระฆังเหนือเรือนธาตุด้วยลานศิลปะพม่า และยอดเจดีย์ที่ปราศจากบัลลังก์ ก็เป็นลักษณะของเจดีย์ศิลปะพม่า ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีการปฏิสังขรณ์โดยผสมผสานกับศิลปะพม่า เพราะเป็นที่นิยมแพร่หลายในสมัยนั้น[22]