ศิลปกรรม ของ วัดพระธาตุลำปางหลวง

บันไดทางขึ้นวัด

วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นโบราณสถานสำคัญ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณซากเมืองโบราณลัมพกัปปะนคร ตามประวัติพระนางจามเทวีเคยเสด็จมานมัสการ และทำการบูรณะซ่อมแซมอยู่เสมอ นับว่าเป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณกาล มีความสวยงาม และมีความยอดเยี่ยมทั้งสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และจิตรกรรม เป็นที่ประดิษฐาน พระแก้วดอนเต้า ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวลำปาง และชาวพุทธทั่วไป

ประตูโขง

ประตูโขง เป็นฝีมือช่างหลวงโบราณที่สวยงามก่ออิฐถือปูนทำเป็นซุ้มยอดแหลมเป็นชั้น ๆ มีสี่ทิศ ประดับตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น รูปดอกไม้ และสัตว์ในหิมพานต์ ประตูโขงแห่งนี้ใช้เป็นสัญลักษณ์เมืองลำปางในตราจังหวัดลำปาง

มณฑปพระเจ้าล้านทอง

วิหารหลวง เป็นวิหารประธานของวัด ตั้งอยู่บนแนวเดียวกับประตูโขง และองค์พระธาตุเจดีย์ เป็นวิหารจั่วรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทรงวิหารโล่งตามแบบล้านนายุคแรก หลังคาจั่วซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ภายในวิหารบรรจุมณฑปพระเจ้าล้านทอง ด้านในของแนวคอสอง มีภาพเขียนสีโบราณเรื่องชาดก

เจดีย์

องค์พระธาตุเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงล้านนา ก่ออิฐถือปูน ประกอบด้วยฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมด้วยบัวมาลัยสามชั้น เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่หุ้มด้วยแผ่นทองเหลือง ฉลุลายหรือที่เรียกว่าทองจังโก ตามตำนานกล่าวว่าเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

วิหารน้ำแต้ม

วิหารน้ำแต้ม เป็นวิหารบริวารตั้งอยู่ทางทิศเหนือขององค์พระธาตุเจดีย์ เป็นวิหารเครื่องไม้สี่เหลี่ยมผืนผ้า รูปร่างและสัดส่วนงดงาม ภายในคอสองมีภาพเขียนสีโบราณที่เก่าแก่ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริด ขนาดหน้าตักกว้าง 45 นิ้ว

หอพระพุทธ

ภาพแสงหักเหที่ปรากฏเป็นเงาพระธาตุและพระวิหารในด้านมุมกลับภายในหอพระพุทธ

หอพระพุทธ เป็นสถาปัตยกรรมก่ออิฐทรงสี่เหลี่ยม ฐานเจดีย์สร้างครอบรอยพระพุทธบาทไว้ สร้างขึ้นสมัยเจ้าหาญแต่ท้อง เมื่อปี พ.ศ. 1992

ภายในมองเห็นแสงหักเห ปรากฏเป็นเงาพระธาตุและพระวิหารในด้านมุมกลับ แต่มีข้อห้ามไม่ให้ผู้หญิงขึ้น

วิหารพระพุทธ

วิหารพระพุทธ สร้างขึ้นคู่กับวิหารน้ำแต้ม สันนิษฐานว่าเดิมคงเป็นวิหารโล่ง ได้มีการบูรณะซ่อมแซมภายหลัง ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 40 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะ และส่วนสัดที่งดงามมาก

วิหารพระพุทธเป็นวิหารทิศ ตามจักรวาลคติ มีองค์พระธาตุเจดีย์เป็นศูนย์กลาง สร้างขึ้นเป็นวิหารหลังแรกของวัดในปีพ.ศ. 2019 สมัยของพระเจ้าติโลกราช เดิมเป็นวิหารโถงมีฝาย้อยคอยกันแดดและฝน โครงสร้างภายในใช้วิธีการรับน้ำหนักของเครื่องบนแบบขื่อม้าต่างไหมซึ่งเป็นแนวคิดของช่างล้านนา ไม่ปรากฏในพื้นที่อื่นและมีเสาหลวง 10 ต้นแบ่งพื้นที่ภายในเป็น 5 ห้องเมื่อมีการบูรณะในปีพ.ศ. 2345 ได้มีการก่ออิฐขึ้นมาเป็นฝาปิดทึบตามแนวเดียวกับฝาย้อยและกั้นปิดห้องแรกเพิ่มซุ้มประตูขึ้นมา พระประธานในวิหารเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง ปางมารวิชัย ศิลปะแบบสุโขทัย ส่วนที่สวยงามที่สุดของวิหารหลังนี้น่าจะเป็นลายคำ ที่ช่างสมัยนั้นบรรจงสร้างสรรค์ตกแต่งวิหารให้สวยงาม มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น เป็นวิหารลายคำ 1 ใน 3 หลังของวัดพระธาตุลำปางหลวง ลายคำที่เสาหลวงมีร่องรอยของการบูรณะมาแล้วซึงน่าจะทำในคราวเดียวกับการกั้นฝาวิหาร

และยังปรากฏเงาพระธาตุกลับหัวภายในวิหารอีกด้วย ซึ่งบริเวณนี้สามารถชมได้ทุกเพศทุกวัย

กุฏิพระแก้ว

กุฏิพระแก้ว เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต ไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้สร้างและสร้างเมื่อใด แต่ประมาณอายุไม่ต่ำกว่า 400 ปี มาแล้ว

บันได

บันไดทางขึ้นด้านหน้าออกแบบเป็นรูปมกรคายพญานาคทั้งสองข้างบันได เชิงบันไดมีรูปสิงห์ปูนปั้นขนาดใหญ่สองตัว สร้างในสมัยพระเจ้าดวงทิพย์ เจ้าผู้ครองนครลำปาง เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2331

ใกล้เคียง

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร วัดพระธรรมกาย วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร วัดพระธาตุลำปางหลวง วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร