ประวัติ ของ วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง

ตำนานพระบรมธาตุ

วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ไม่ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าสร้างขึ้นเมื่อใด ชาวบ้านเรียกชื่อวัดนี้ไปต่างๆกัน คือ วัดหน้าพระธาตุ วัดบรมธาตุ วัดทุ่งยั้ง วัดชัยบุรี วัดชัยปราการ วัดกัมโพชนคร วัดอุตรคามนคร สำหรับชื่อ “วัดกัมโพชนคร” เนื่องจากปรากฏหลักฐานการเรียกชื่อเมืองทุ่งยั้งในพงศาวดารเหนือว่า “กัมโพชนคร” ชาวบ้านแถบนั้นคงจะนำชื่อนี้มาเรียกวัดสำคัญประจำเมืองด้วยเช่นกัน

ถึงแม้ว่าวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งจะไม่มีหลักฐานการสร้างที่ชัดเจน แต่ก็ได้มีตำนานการสร้างวัดเขียนขึ้นอย่างมากมาย ดังเช่นตำนานที่คัดลอกมาจากหนังสือที่พระสมุห์กอ ญาณวีโร รวบรวมไว้เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2508 ความว่า

“ กิร ดังได้ยินมาว่า พระกุกกุสันโธ เสด็จอยู่ในภูเขาซอกนอกเมืองทุ่งยั้ง พระพุทธเจ้าก็ทรงยกพระหัตถ์ลูบพระเศียรเกล้า พระเกศหล่นลงเส้นหนึ่ง และพระองค์ก็ทรงยื่นให้พระอรหันต์ พระอรหันต์ก็ยื่นให้พระยาอโสกราช พระยาอโสกราขก็บรรจุไว้ในถ้ำทุ่งยั้งนี้แล แล้วพระพุทธเจ้าก็พระพุทธฎีกาตรัสเทศนาพยากรณ์ทำนายไว้ในเบื้องหน้าว่า เมื่อตถาคตนิพพานล่วงลับไปแล้ว ถึงศาสนาโคดม ศาสนาพระพุทธกัสสปะ ศาสนาพระศรีอริยเมตไตย ก็จะมีกษัตริย์องค์หนึ่งนำเอาพระบรมธาตุมาบรรจุไว้ในสถานที่นี้ทุกๆพระองค์ ในศาสนาของเรานี้ พระศรีธรรมโศกราชเสด็จมายับยั้ง เมืองทุ่งยั้ง พระองค์ให้ขุดแผ่นดินตรงถ้ำเมืองทุ่งยั้ง ลึกได้ 4 วา กว้าง 10 วา 3 ศอก สี่เหลี่ยมจัตุรัส จึงได้หล่ออ่างลูกหนึ่งสิ้นเงินทองหนึ่ง ได้ตักน้ำใส่เต็มแล้วจึงหล่อสิงโตตัวหนึ่งสิ้นเงินทองหนึ่งให้ยืนอยู่ในอ่างทอง แล้วให้หล่อพานทองหนึ่งสิ้นเงินทองหนึ่งตั้งไว้เหนือสิงห์โตทองนั้น แล้วจึงหล่อรูปพระนารายณ์องค์หนึ่งสิ้นเงินทองหนึ่งบ่ายหน้าไปทางทิศตะวันออก ชูไว้ซึ่งผอบแก้วผลึกแล้วตั้งไว้เหนือพานทองคำนั้น แล้วพระยาศรีธรรมโศกราชและพระอรหันต์เจ้าทั้งหลายก็อาราธนาพระบรมอัฐิพระพุทธเจ้ามาบรรจุไว้ในผอบผลึกแก้วซึ่งมีรูปพระนารายณ์อยู่นั้น แล้วให้หล่อรูปปราสาทลิ้นทองหนึ่ง แล้วพระอิศวรถือจักรตราวุธด้วยทองคำประดิษฐานอยู่ในทิศตะวันออก แล้วจึงให้หล่อรูปวิรุฬหกถือพระขรรค์ทองคำอยู่ทักษิณ รูปพระอิศวรและท้าววิรุฬหก เป็นภาพยนตร์พัดอยู่นิตย์กาล แล้วพระอรหันต์แลท้าวพระยาทั้งหลายก็สั่งภาพยนตร์ว่า ดูกรยักษาและเทวบุตรอันอยู่พิทักษ์รักษาสถานที่นี้ ท่านจงตั้งใจรักษาพระธาตุแห่งพระพุทธเจ้า ถ้าเมื่อบุคคลใดปรารถนาจะทำอันตรายแก่พระธาตุนี้ พอที่จะให้ตายก็ให้ตาย พอที่จะให้ฉิบหายก็ฉิบหาย เป็นอันตรายอย่าให้ต่อสู้ท่านได้เลย ผิว์บุคคลผู้ใดจะบำรุงพระธาตุในสถานที่นี้แลมานมัสการด้วยน้ำจิตเลื่อมใสศรัทธา ท่านทั้งปวง จงพิทักษ์รักษาคนหมู่นั้นอย่าให้เป็นอันตรายแต่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย ครั้นพระอรหันต์ท้าวพระยาสั่งดังนั้นแล้ว จึงโปรยข้าวตอกธูปเทียนกระทำสักการบูชาพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า แล้วจึงถมด้วยอิฐเงินอิฐทองและศิลาแลงให้เสมอแผ่นดิน แล้วจึงปลูกไม้รังต้นหนึ่งอยู่ในสถานที่นั้น แล้วพระศรีธรรมโศกราชจึงพาลี้พลกลับไปเมืองสังกะโลกอันเป็นราชธานีแห่งพระองค์ ตถากาเลยังมีชายคนหนึ่งไปไถไร่ถั่วในเพลาเช้า เมื่อไถไปแถบต้นรังที่พระสารีริกธาตุบรรจุไว้ในที่นั้น และชายซึ่งไถไร่ถั่วนั้นเห็นพระรัศมีมีพระสารีริกธาตุกระทำปฏิหารย์ ดังนั้นเห็นเป็นอัศจรรย์ก็กลับมาสู่เรือน แล้วนำความที่ตนเห็นไปบอกแก่บุรุษนายบ้านชื่อว่านายยอด นายยอดจึงพาคนที่ไถไร่ถั่วนั้นไปสู่สำนักพระมหาเถระเจ้ากาเลทัย ชายที่ไร่ถั่วนั้นก็บอกความโดยสัตย์อันตนได้ประสบมาแก่พระมหาเถระเจ้ามหากาเลทัย

อถ โข ลำดับนั้นพระมหาเถระเจ้ากาเลทัย นายยอด และชายที่ไถไร่นั้น พร้อมด้วยมหาชนทั้งหลายก็ไปยังต้นไม้รังนั้น แล้วพระมหาเถระเจ้ากาเลทัย เจ้าพระผู้เป็นเจ้าก็พิจารณาด้วยญาณปัญญาก็รู้ว่า พระอรหันต์เจ้าทั้งหลายบรรจุพระบรมสารีริกธาตุแห่งพระพุทธเจ้าไว้ฐานที่นั้น จึงตั้งคำสัตย์อธิษฐานว่า ข้าแต่พระพุทธองค์ผู้ทรงพระกรุณาแก่สัตว์โลกครั้งนั้น ถ้าข้าพเจ้าจะได้อุปถัมภ์ทำนุบำรุงยกย่องพระพุทธศาสนาได้แล้ว ก็ขอให้พระบรมสารีริกธาตุจงกระทำปฏิหารย์ให้ปรากฏแก่ตาข้าพเจ้าในกาลบัดนี้ เมื่อพระมหาเถระเจ้ากาเลทัยตั้งความสัตย์อธิษฐานดังนั้นแล้ว พระบรมสารีริกธาตุแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าก็กระทำปฏิหารย์ เสด็จออกมาเท่าลูกมะพร้าวแลลูกตาลรุ่งเรืองแล้วก็แตกออกไปประดุจถูกพลุทั่วทิศานุทิศทั้งปวง ฝ่ายมหาชนทั้งหลายมีพระมหาเถระเจ้ากาเลทัยเป็นประธาน ก็ชื่นชมโสมนัสยินดีปรีดาปราโมทย์พากันหมอบถวายนมัสการและวสักการบูชาพระพบรมสารีริกธาตุนั้นด้วยดอกไม้ของหอมธูปเทียนชวาลานาๆประการ แล้วก็ตัดต้นรังนั้นทิ้งเสีย ก็เป็นพระเจดีย์สรวมลงไว้ในที่ต้นรังนั้นคือ พระมหาเจดีย์อันประเสริฐประดิษฐานไว้ในเมืองทุ่งยั้งนั้น อัชชัตตนา ดังมีปรากฏอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้ ”

นอกจากนี้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ทรงสันนิษฐานว่า พระยาศรีธรรมโศกราชที่กล่าวถึงในตำนานข้างต้นเป็นผู้ครองเมืองสุโขทัย ได้เชิญพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาบรรจุไว้ในถ้ำใต้ดินโดยขุดลงไปเป็นถ้ำแล้วก่อพระธาตุไว้ พระยาศรีธรรมโศกราชนี้สันนิษฐานว่าคือ สมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท กษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย

สมัยอยุธยา

สมัยอยุธยาตอนต้นถึงตอนกลาง ยังไม่มีหลักมีหลักฐานที่เป็นเอกสารกล่าวถึงวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งโดยตรง มีก็เพียงพงศาวดารเหนือที่กล่าวถึงเพียงว่า ในสมัยพระเจ้าติโลกราชกษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา ทรงทำศึกกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถกษัตริย์แห่งอาณาจักรอยุธยา โดยพระเจ้าติโลกราชทรงยกกองทัพจากเมืองเชียงใหม่และหัวเมืองใกล้เคียงมาตั้งมั่นที่เมืองทุ่งยั้งในขณะนั้น

สมัยอยุธยาตอนปลาย ในแผ่นดินของสมเด็จพระเจ้าบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2275-2301 ได้ทรงมาปฏิสังขรณ์วัดมหาธาตุทั้งที่เมืองพิษณุโลกและเมืองทุ่งยั้งโดยปรากฏความในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เป็นหมายรับสั่งในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศมีความโดยสังเขปว่า “โปรดให้มีตราพระราชสีห์ให้เมืองลับแล เมืองทุ่งยั้งรื้อวิหารและกำแพงแล้วสร้างใหม่” มีการสมโภชใหญ่ 3 วัน 3 คืน ภายในวิหารประดิษฐานพระประธานที่ชาวบ้านเรียกว่าหลวงพ่อหลักเมือง หากในส่วนขององค์พระบรมธาตุนั้นไม่มีข้อความในพงศาวดารระบุว่าได้มีการปฏิสังขรณ์ จึงไม่อาจสรุปได้ว่าองค์พระบรมธาตุจะได้รับการปฏิสังขรณ์เช่นเดียวกับวิหารและกำแพงหรือไม่

สมัยกรุงธนบุรี

สมัยกรุงธนบุรี ในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ยกกองทัพไปปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง พระยาพิชัยราชาถือพล 5,000 พระยายมราชถือพล 5,000 สมเด็จพระเจ้าตากสิน 12,000 เมือวันพุธ แรม 4 ค่ำ เดือน 8 จุลศักราช 1132 พ.ศ. 2313 ทรงพระกรุณาให้เย็บจีวรให้ได้ 1,000 ไตร บวชพระสงฆ์ฝ่ายเหนือคือบวชพระที่วัดพระฝาง 200 องค์ บวชพระที่วัดมหาธาตุ 200 องค์ บวชพระที่สวรรค์โลก 200 องค์ แล้วให้ลงมาอาราธนารับพระสงฆ์ราชาคณะและอันดับ 50 รูป ณ กรุงธนบุรีขึ้นไปบวชพระสงฆ์ไว้ทุกหัวเมืองแล้วพระราชทานพระราชาคณะไว้ให้อยู่สั่งสอนพระสงฆ์ฝ่ายเหนือ วันศุกร์แรม 10 ค่ำ เดือน 11 เสด็จพระราชดำเนินไปเมืองสวางคบุรี สมโภชพระธาตุ 3 วัน แล้วให้บูรณปฏิสังขรณ์พระอารามและพระธาตุให้บริบูรณ์ดังเก่า แล้วพระองค์จึงเสด็จพระราชดำเนินไปสมโภชพระ ณ วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง 3 วัน แล้วเสด็จไปสมโภชพระธาตุเมืองสวรรคโลก

สมัยรัตนโกสินทร์

สมัยรัตนโกสินทร์ พญาตะก่าเป็นพ่อค้าไม้ชาวพม่ามีศรัทธาแรงกล้าขออนุญาตทำการบูรณะพระมหาธาตุเจดีย์ ได้นำฉัตรมาติดยอดพระบรมธาตุเจดีย์ทุ่งยั้งและสร้างเจดีย์องค์เล็กที่ฐานชั้นล่างทั้ง 4 มุม และสันนิษฐานว่าการซ่อมของพญาตะก่าครั้งนี้คงจะซ่อมประมาณเดือนเสร็จก่อนเดือนมีนาคม พ.ศ. 2544 เนื่องจากปรากฏหลักฐานโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ทรงบันทึกในพระนิพนธ์จดหมายระยะทางไปพิษณุโลกเกี่ยวกับวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2444 ไว้ส่วนหนึ่งดังนี้

“หลังพระวิหารมีพระธาตุ สูงเห็นจะเกือบ 20 วา เป็นรูปเจดีย์พม่าใหม่อลองฉ่อง พระสีหสงครามว่าพระธาตุเดิมเล็ก นี่เขาทำบวกเข้าใหม่เมื่อสองเดือนนี้ ช่างพม่ารับจ้างทำอย่างพม่า พร้อมทั้งประตูกำแพงแก้วด้วย รูปร่างทำใหม่ก็ดีอยู่”

และเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทำให้ยอดพระบรมธาตุเจดีย์หักพังลงมา ต่อมาหลวงพ่อแก้วสมภารวัดพระบรมธาตุในขณะนั้นได้เป็นหัวหน้าปฏิสังขรณ์ซ่อมเพิ่มเติมดังรูปแบบที่ปรากฏในปัจจุบัน

การบูรณะพระบรมธาตุในสมัยรัตนโกสินทร์ จากการวิเคราะห์จากพระนิพนธ์จดหมายระยะทางไปพิษณุโลกเกี่ยวกับวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2444 โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงกล่าวไว้ในหนังสือเที่ยวตามรางรถไฟเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2444 และหนังสือประวัติวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ของคุณนรินทร์ ประภัสสร สามารถสรุปได้ว่า ประมาณเดือนมีนาคม พ.ศ. 2444 มีการบูรณะครั้งแรกโดยช่างชาวพม่า และมีการบูรณะอีกครั้งเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2451 โดยหลวงพ่อแก้วนั่นเอง

ใกล้เคียง

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร วัดพระธรรมกาย วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร วัดพระธาตุลำปางหลวง วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร