ตำนานพระสิงห์ ของ วัดพระสิงห์_(จังหวัดเชียงราย)

ผู้รู้บางท่านกล่าวว่า หากพิจารณาถึงคำว่า พระสิงห์ นั้น หมายถึง วัดซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานพระสิงห์มาก่อน พระสิงห์ เป็นนามพระพุทธรูป อันบ่งบอกถึงคติพระพุทธศาสนาเถรวาทอย่างลังกาวงศ์ตรงกับ พระพุทธสิหิงค์ อันเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว แต่ทางภาคเหนือล้านนา มิได้เรียกว่า พระพุทธสิหิงค์ นิยมเรียกว่า พระสิงห์ ท่านผู้รู้บางท่านพยายามคิดว่า พระสิงห์ หมายถึง สิงหนวัติ กษัตริย์โบราณผู้สร้างเมืองโยนกนครก็มี บางท่านอธิบายว่าหมายถึง พระศากยสิงห์ คือพระนามหนึ่งของ พระพุทธเจ้า กระนั้น เท่าที่พิจารณาโดยตลอดแล้ว เห็นว่า พระสิงห์ ก็ดี พระพุทธสิหิงค์ ก็ดี น่าจะพึงยุติกันได้ว่าเป็นนามของพระพุทธรูป อันบ่งบอกถึงคติพระพุทธศาสนาอย่างลังกาวงศ์ เพราะทุกที่ที่ปรากฏว่ามี พระสิงห์ หรือ พระพุทธสิหิงค์ นั้นแสดงให้เห็นว่า สถานที่เหล่านั้นได้มีพระพุทธศาสนาเถรวาทอย่างลังกาวงศ์แพร่หลายไปถึง ฉะนั้น ควรถือกันว่าพระพุทธรูปที่เรียกพระนามอย่างนี้ เป็นสัญลักษณ์แห่งพระพุทธศาสนาเถรวาท อย่างลังกาวงศ์ในประเทศไทยและก่อนศตวรรษที่ 20 ขึ้นไป จะไม่พบหลักฐานเช่นนี้เลย

พระพุทธสิหิงค์ หรือ พระสิงห์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 21 มีพุทธลักษณะสง่างาม อย่างยากที่จะหาพระพุทธรูปในสมัยเดียวกันมาทัดเทียมได้ หน้าตักกว้าง 37 เซนติเมตร สูงทั้งฐาน 66 เซนติเมตร ชนิดสำริดปิดทอง ประดิษฐานอยู่บนบุษบกภายในกุฏิเจ้าอาวาส ชาวเชียงรายและประเทศใกล้เคียงในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ถือว่า พระสิงห์ เป็นพระพุทธปฏิที่ทรงความสำคัญ และทรงความศักดิ์สิทธิ์มีมหิทธานุภาพสามารถยังความสงบร่มเย็น และเป็นมิ่งขวัญของชาวประชามาทุกยุคทุกสมัย จนกล่าวกันว่า พระพุทธสิหิงค์ หรือ พระสิงห์ คือ พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดเชียงรายและประเทศใกล้เคียง

พระพุทธสิหิงค์ หรือ พระสิงห์เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทยมาอย่างยาวนานมีหลักฐานปรากฏในสิหิงคนิทานบันทึกไว้ว่า สร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศักราช 700 ในประเทศลังกา และประดิษฐานอยู่ที่ลังกา 1150 ปี จากนั้นได้ถูกอัญเชิญมาประดิษฐานยังราชอาณาจักรไทยตามลำดับ ดังนี้

  1. พ.ศ. 1850 ประดิษฐานที่กรุงสุโขทัย 70 ปี
  2. พ.ศ. 1920 ประดิษฐานที่พิษณุโลก 5 ปี
  3. พ.ศ. 1925 ประดิษฐานที่กรุงศรีอยุธยา 5 ปี
  4. พ.ศ. 1930 ประดิษฐานที่กำแพงเพชร 1 ปี
  5. พ.ศ. 1931 ประดิษฐานที่เชียงราย 20 ปี
  6. พ.ศ. 1950 ประดิษฐานที่เชียงใหม่ 255 ปี
  7. พ.ศ. 2250 ประดิษฐานที่กรุงศรีอยุธยา 105 ปี
  8. พ.ศ. 2310 ประดิษฐานที่เชียงใหม่ 28 ปี
  9. พ.ศ. 2338 ประดิษฐานที่กรุงเทพฯ – ปัจจุบัน

ใกล้เคียง

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร วัดพระธรรมกาย วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร วัดพระธาตุลำปางหลวง วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร