ศิลปะและสถาปัตยกรรม ของ วัดราชสิทธารามราชวรวิหาร

  1. พระอุโบสถ มีกุฏิวิปัสสนาขนาดเล็กโดยรอบจำนวน 24 หลัง ( ภายในมีแท่นประดิษฐานพระพุทธรูป และแท่นนั่งวิปัสสนาสำหรับพระภิกษุ กุฏิหน้าด้านซ้ายของพระอุโบสถ ประดิษฐานรูปหล่อสมเด็จพระญาณสังวร (สุก)) พื้นที่รอบๆ ปูด้วยหินอ่อนสีเทาขาวขัดเงา มีตุ๊กตาพระจีน ทหารม้าจีนโบราณ กิเลน ตั้งเรียงรายรอบ ลักษณะอาคารก่ออิฐถือปูน ทรงโรง มีเสาพาไลล้อมรอบ หลังคาลดสองชั้น หน้าบันแกะสลักเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ ระเบียงด้านหน้าพระอุโบสถมีภาพเขียน กระบวนพยุหยาตราสถลมารค มีรถม้าแบบตะวันตก พระพุทธจุฬารักษ์ พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย มีเรื่องเล่าขานว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ทรงปั้นพระเศียรพระพุทธรูป พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัสรัชกาลที่ ๓ ทรงปั้นองค์พระ หน้าองค์พระประธานประดิษฐานรูปหล่อพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร และพระอานนท์ ผนังในพระอุโบสถด้านซ้ายของพระประธานมีภาพเขียนสีพุทธประวัติ (มี 6 ช่อง จากด้านในได้แก่ 1. ทูลเชิญพระโพธิสัตว์ 2. สี่เทวทูต การสละอันยิ่งใหญ่และออกมหาภิเนษกรมณ์ 3. ตัดเมาลีและพระอินทร์ทรงพิณทิพย์สามสาย 4. ตรัสรู้ 5. พระบิดาส่งทูตมาทูลเชิญและแสดงปาฏิหารย์ทรมานพระประยูรญาติ 6. โปรดพระพุทธมารดา ปรินิพพานและถวายพระเพลิง) ด้านหน้าเป็นภาพพุทธประวัติ ตอนโทณพราหมณ์แบ่งพระธาตุ เทวดาอาราธนาแสดงธรรมและถวายพระเพลิงพระพุทธบิดา ด้านหน้าเหนือภาพพุทธประวัติคั่นด้วยตัวมกรคายนาค (ตัวสำรอก) เป็นภาพเขียนเรื่องมารผจญ พระแม่ธรณีบีบมวยผม หากสังเกตใต้ตัวมกร[8] (ยักษ์คายนาค) จะเห็นร่องรอยของประตูบานกลางที่ถูกอุดไป เพื่อวาดภาพจิตรกรรมเพิ่ม เป็นเรื่องราวพระอุปคุตปราบมาร ซึ่งของเดิมได้ลบเลือนไปเกือบหมด เหลือเพียงภาพพญามารเหาะไปยังวิมานเทวดาเท่านั้น ด้านขวาเป็นเรื่องพระเวสสันดรชาดก (มี 6 ช่อง จากด้านในได้แก่ 1. กัณฑ์ทศพรและทานกัณฑ์ 2. กัณฑ์วนปเวสน์ 3. กัณฑ์มหาพน 4. กัณฑ์มัทรีและกัณฑ์สักกบรรพ 5. กัณฑ์มหาราช 6. กัณฑ์ฉกษัตริย์) ส่วนผนังด้านหลังเป็นไตรภูมิโลกสัณฐาน (สวรรค์ โลกมนุษย์ และนรก) มีภาพลงทัณฑ์ต่างๆ ในนรกภูมิ เหนือหน้าต่างทั้งสองข้างเขียนเทพชุมนุม บานหน้าต่างบานประตูด้านใน เขียนทวารบาล เพดาน วาดดาวเพดานขนาดเล็ก คล้ายตาข่าย จิตรกรรมฝาผนังวัดราชสิทธาราม กำลังประสบปัญหาที่ค่อนข้างรุนแรงต่อภาพ คือ ปัญหาความชื้นในดิน ที่ค่อยๆ ไล่ขึ้นมาตามผนัง เมื่อไปถึงจุดไหน ภาพก็จะเปื่อยยุ่ย พอง และหลุดลอกออกมา ทำให้จิตรกรรมฝาผนังระหว่างหน้าต่าง ที่วาดในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เหลือเพียงหนึ่งในสาม หรือ ครึ่งหนึ่ง ของผนังเท่านั้น ต่อมา ได้มีการบูรณะภาพจิตรกรรมใหม่ ด้วยการ เขียนเติมในส่วนที่หายไป ภาพจิตรกรรมวัดนี้จึงมี ๒ สมัย แต่ก็สามารถแยกภาพจิตรกรรมเก่า และใหม่ได้ โดยจิตรกรรมเก่าจะอยู่ในส่วนบนเหนือครึ่งผนังระหว่างหน้าต่างขึ้นไป และสังเกตได้จากความสว่างของสี
  2. พระศิราสนเจดีย์ และพระศิรจุมภฏเจดีย์ เป็นเจดีย์คู่หน้าพระอุโบสถ ทรงลังกา ลักษณะพิเศษคือ มีสร้อย สังวาลย์ ประดับอยู่บนเจดีย์ เรียกเจดีย์ลักษณะนี้ว่า เจดีย์ทรงเครื่อง
  3. ศาลาการเปรียญ เป็นอาคารสถาปัตยกรรมแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ ๓ หน้าบันตกแต่งด้วยลายดอกไม้อย่างเทศ
  4. พระวิหาร มี ๒ หลัง หลังแรก เดิมสร้างพร้อมกับพระอุโบสถ ที่ผนังทาสีแดงทาสีแดง จึงเรียก พระวิหารแดง ปัจจุบันได้รื้อสร้างใหม่แล้ว ส่วนพระวิหารอีกหลังหนึ่ง เป็นพระวิหารพระพุทธเมตตาจำลอง อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง
  5. พระตำหนักจันทร์และพระตำหนักเก๋ง[9] เคยเป็นที่ประทับจำพรรษาของ รัชกาลที่ 4 ครั้งสมัยเสด็จมาประทับเจริญวิปัสสนา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ทรงสร้างพระตำหนักจันทร์ พระราชทานให้รัชกาลที่ ๓ ประทับเมื่อทรงผนวช เป็นพระตำหนักเล็กขนาด ๒ ห้อง ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ชั้นบนสร้างด้วยไม้จันทร์ทั้งหมด ติดช่อฟ้า ใบระกา ประดับกระจกสวยงาม ต่อมารัชกาลที่ ๓ ทรงย้ายไปปลูกเคียงพระตำหนักเก๋งจีนและเปลี่ยนเครื่องไม้ที่ชำรุดทรุดโทรมเป็นไม้เนื้อแข็งอื่นๆ เช่น ไม้เต็งรัง ไม้สัก ทำให้เหลือส่วนที่เป็นไม้จันทร์อยู่เพียงบางส่วนเท่านั้น
  6. พิพิธภัณฑ์กรรมฐาน คณะ ๕ มีพระประวัติสมเด็จพระญาณสังวร (สุก) และวิธีนั่งกรรมฐานตามแบบฉบับวัดราชสิทธาราม

ใกล้เคียง

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร วัดราชนัดดารามวรวิหาร วัดราชบูรณะ (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร วัดราชสิทธารามราชวรวิหาร วัดราชผาติการามวรวิหาร วัดราชสิงขร (กรุงเทพมหานคร) วัดราชบุรณราชวรวิหาร