ประวัติความเป็นมาของวัด ของ วัดสังฆราชา

  • พ.ศ. 2430 ชาวบ้านบริเวณคลองสองมีความประสงค์จะสร้างวัด เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน จึงได้พากันไปปรึกษานายกองนาท้วย ซึ่งเป็นผู้เก็บค่าเช่านาให้แก่พระยาเกษมศุขการี (คลับ แพ่งสภา) เมื่อทราบความประสงค์ดังนั้นแล้วนายกองนาท้วยจึงได้พาชาวบ้านส่วนหนึ่งเข้าไปเรียนปรึกษากับพระยาเกษมศุขการีและคุณหญิงไผ่ เกษมศุขการี

เมื่อท่านทั้งสองเห็นว่าชาวบ้านมีความตั้งใจจริง จังแสดงความยินดีพร้อมให้ความช่วยเหลือทุกอย่าง ในเบื้องต้นท่านทั้งสองได้บริจาคที่ดิน 11 ไร่ 1 งาน 49 ตราราวา เพื่อเป็นที่สำหรับสร้างวัด และได้ร่วมมือกับชาวบ้านช่วยกันสร้างเสนาสนะสงฆ์ขึ้น สันนิษฐานว่าเบื้องต้นเสนาสนะน่าจะมีหลังเดียวหรือสองหลัง เพราะพระสงฆ์อยู่จำพรรษามีจำนวนน้อย สำหรับชื่อของวัดนั้นเข้าใจว่าน่าจะเรียกกันว่า วัดสอง หรือ วัดที่สอง ตามชื่อคลอง ส่วนพระสงฆ์ที่ชาวบ้านนิมนต์มาอยู่จำพรรษาที่วัดสองนั้นไม่สามารถทราบได้ว่าเป็นพระสงฆ์จากวัดใด สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวัดในบริเวณใกล้เคียง ด้วยเหตุผลว่ามีความคุ้นเคยกัน หรือมีความเกี่ยวพันกันโดยความเป็นญาติ

  • พ.ศ. 2437 เจ้าอาวาสและพระสงฆ์ พร้อมกับชาวบ้านได้พิจารณาเห็นว่าวัดสองมีพระสงฆ์จำพรรษามากแล้ว เห็นสมควรให้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมา เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการทำสังฆกรรมของพระสงฆ์ จึงได้เดินทางไปปรึกษากับพระยาเกษมศุขการีและคุณหญิงไผ่ เกษมศุขการี ท่านทั้งสองก็แสดงความยินดี พร้อมทั้งได้ทำหนังสือขอพระราชทานวิสุงคามสีมาให้แก่วัดด้วย
  • พ.ศ. 2447 พระยาเกษมศุขการีและคุณหญิงไผ่ เกษมศุขการีและครอบครัว ได้เดินทางมาเป็นเจ้าภาพทอดกฐินแก่วัดสอง คราวเดียวกันนั้นได้ถวายขันน้ำมนต์ทองเหลืองไว้เป็นอนุสรณ์ด้วย หลักฐานชิ้นนี้สามารถยืนยันได้ว่าวัดสองนั้นมีชื่อเป็นทางการว่า “วัดสังฆราชาราษฎรบำรุง” แต่ชื่อดังกล่าวใครเป็นผู้ตั้งนั้นไม่สามารถสืบทราบได้ สันนิษฐานว่าพระยาเกษมศุขการี ซึ่งมีความคุ้นเคยสนิทสนมกับสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส อาจจะทูลขอให้พระองค์ประทานชื่อให้ เพราะชื่อของวัดมีนัยบอกว่าเป็นวัดพระสังฆราช มีราษฎรช่วยกันดูแลรักษา
  • พ.ศ. 2467 เจ้าอาวาสนามว่า พระครูผ่อง เจ้าคณะแขวงลาดกระบัง (ต่อมาเป็นพระครูศีลธรรมไพโรจน์) ได้ปรึกษากับชาวบ้านเพื่อจัดงานยกช่องฟ้าอุโบสถ ซึ่งทิ้งค้างไว้มาหลายปี เมื่อชาวบ้านมีมติเป็นเอกฉันท์กลมเกลียวกันดีแล้ว พระครูผ่อง จึงได้ทำหนังสือทูลเชิญสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ เสด็จมาเป็นองค์ประธานยกช่องฟ้าอุโบสถ เหตุที่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ได้เสด็จมาเป็นองค์ประธานยกช่องฟ้าวัดสังฆราชาราษฎรบำรุงในคราวนั้น เป็นเพราะพระครูผ่องมีความคุ้นเคยใกล้ชิดกับพระองค์ท่านมาก่อนหรืออาจเป็นเพราะพระยาเกษมศุขการีเป็นผู้กราบทูลเชิญพระองค์ท่านก็ไม่ทราบได้

วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2467 เวลา 08.30 นาฬิกา สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ได้เสด็จมางานยกช่องฟ้าอุโบสถวัดสังฆราชา คราวนั้นพระครูผ่อง เจ้าคณะแขวงพร้อมด้วยคณะสงฆ์และข้าราชการชาวบ้าน โดยการนำของรองอำมาตย์เอก หลวงขจรบุรี นายอำเภอมีนบุรีได้รับเสด็จอยู่ตลอดเวลา จนถึงเวลาเสด็จกลับ

สมัยพระครูศีลธรรมไพโรจน์ (ผ่อง) เป็นเจ้าอาวาสวัดสังฆราชาราษฎรบำรุงนั้น วัดได้รับการพัฒนาจนกลายมาเป็นวัดใหญ่มีพระภิกษุสามเณรมากมาย นอกจากนั้นพระครูศีลธรรมไพโรจน์ ยังได้รับความไว้วางใจจากพระเถระผู้ใหญ่ให้เป็นเจ้าคณะแขวงทำหน้าที่ปกครองดูแลคณะสงฆ์เขตลาดกระบังอีกด้วย หลังจากพระครูศีลธรรมไพโรจน์มรณภาพแล้ว พระชิต อมฺพโร (ต่อมาเป็นพระครูวิชิตสังฆภาร) ลูกศิษย์ของท่านได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าอาวาสสืบแทนต่อจากท่าน สมัยพระครูวิชิตสังฆภารเป็นสมภารเจ้าวัดนี้เอง วัดสังฆราชาได้มีการพัฒนาหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกนักธรรมนั้น องค์การศึกษาแผนกธรรมสนามหลวงให้เปิดสนามสอบธรรมสนามหลวงขึ้นที่วัดสังฆราชา อำเภอลาดกระบัง จังหวัดพระนคร และเป็นสำนักเรียนคณะอำเภอลาดกระบัง เมื่อ พ.ศ. 2477

  • พ.ศ. 2486 พระครูวิชิตสังฆภาร ได้รับแต่งตั้งจากสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ ให้เป็นเจ้าคณะอำเภอลาดกระบัง จังหวัดพระนคร นอกจากนั้นยังทำหน้าที่เป็นกรรมการสงฆ์อำเภอลาดกระบัง ตำแหน่งองค์การปกครองอีกด้วย
  • พ.ศ. 2505 พระประเสริฐ เขมานนฺโท (ต่อมาเป็นพระครูเขมาภิรักษ์) เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้ทำหน้าที่บูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่สร้างขึ้นมาสมัยพระครูวิชิตสังฆภารเป็นเจ้าอาวาส จนมีสภาพมั่นคงถาวร
  • พ.ศ. 2538 พระสายหยุด สุภทฺโท (ต่อมาเป็นพระครูสังฆเสนานุวัตร) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสสืบแทนพระครูเขมาภิรักษ์ที่มรณภาพไป หลังจากรับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสแล้วหลวงพ่อพระครูสังฆเสนานุวัฒรได้พัฒนาวัดอย่างเป็นรูปธรรม

ด้านสาธารณูปการ ได้บูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะเก่า ก่อสร้างเสนาสนะถาวรวัตถุใหม่ ปรับปรุงบริเวณวัดให้มีสภาพร่มรื่น เปิดสวนปลาหน้าวัดเพื่อเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของชุมชนและเป็นเขตอภัยทาน ด้านการศึกษา ได้เปิดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและบาลีขึ้น มีพระภิกษุสามเณรสามารถสอบไล่ได้ในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก ส่วนด้านการเผยแพร่ มีนโยบายส่งพระภิกษุไปอบรมครูสอนศีลธรรม จากนั้นก็สนับสนุนให้ไปสอนตามโรงเรียนทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาต่าง ๆ หลายแห่ง ทั้งในเขตลาดกระบังและเขตใกล้เคียง

ใกล้เคียง

วัดสังฆราชา วัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร วัดสังข์กระจายวรวิหาร วัดสันปูเลยสะหลีเวียงแก้ว วัดสังเวชวิศยารามวรวิหาร วัดสังกระต่าย วัดสังฆทาน วัดสังกัสรัตนคีรี วัดสันติธรรม (จังหวัดเชียงใหม่) วัดสันติการาม (จังหวัดน่าน)

แหล่งที่มา

WikiPedia: วัดสังฆราชา http://maps.google.com/maps?ll=13.725529,100.73778... http://www.multimap.com/map/browse.cgi?lat=13.7255... http://www.terraserver.com/imagery/image_gx.asp?cp... http://www.globalguide.org?lat=13.725529&long=100.... http://www.wikimapia.org/maps?ll=13.725529,100.737... //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... https://sangkhatikan.com/monk_view.php?ID=16618 https://commons.wikimedia.org/wiki/Category:Wat_Sa...