ประวัติ ของ วัดอิสาน

พระศรีรัตนปราติการส พระประธานในพระอุโบสถวัดอิสาน

วัดอิสาน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2220 ในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเป็นวัดที่สร้างพร้อม ๆ กับการสร้างเมืองนครราชสีมา โดยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดฯ ให้โดยพระยายมราช หรือ สังข์ เป็นผู้สร้างโดยมีช่างชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ช่วยออกแบบผังเมือง เมื่อสร้างผังเมืองเสร็จ จึงโปรดฯ ให้ประชาชน และคฤหบดีและขุนนาง สร้างวัด 6 วัด คือ วัดพระนารายณ์มหาราช (วัดกลาง) วัดบูรพ์ วัดอิสาน วัดพายัพ วัดบึง และวัดสระแก้ว

วัดอิสาน เป็นวัดที่คหบดีและประชาชนร่วมกันสร้าง ความควาปราณีตในการก่อสร้างจึงน้อยกว่าวัดที่สร้างโดยขุนนาง (วัดกลางนคร วัดบึง และวัดสระแก้ว) แต่เต็มไปด้วยความภาคภูมิใจที่ส่งมายังอนุชนรุ่นหลังโดยเฉพาะภายในอุโบสถมีพระพุทธรูปประธาน ศิลปะสมัยเชียงแสน ชื่อว่า "พระศรีรัตนปราติการส" แปลว่า “พระแก้วมงคลผู้ให้ความปรารถนาสำเร็จยิ่งกว่าปรารถนา”

พระอุโบสถ กว้าง 11.28 เมตร ยาว 22.60 เมตร สูง 14 เมตร มีเสา 12 ต้น เป็นเสาแปดเหลี่ยม มีหัวบนหัวเสา หรือเรียกว่า เสามรรค 8 ฐานแอ่นโค้งทรงสำเภา หน้าบันและหลังคาได้ซ่อมใหม่ มีลวดลายแกะสลัก ภายในมีจิตรกรรมฝาผนัง ฐานเสมาคู่ และเสาหัวเม็ดที่กำแพง ตามแบบกรุงศรีอยุธยา ซึ่งในปัจจุบันวัดที่ยังคงโครงสร้างเดิมตั้งแต่สมัยอยุธยาในจังหวัดนครราชสีมา เหลือเพียง 3 วัด อันได้แก่ วัดบึง วัดอิสาน และวัดหมื่นไวย (วัดหมื่นไวยตั้งอยู่นอกเมืองนครราชสีมา)