ประวัติ ของ วัดเจ้าเจ็ดใน

วัดเจ้าเจ็ดใน เป็นวัดโบราณมีมาช้านาน เกิดขึ้นในสมัยหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าแล้วใหม่ ๆ สร้างขึ้นเป็นวัดนับตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. ๒๓๓๕ (ตามหนังสือรับรองสภาพวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๔กองพุทธศาสนสถาน กรมการศาสนากระทรวงศึกษาธิการ)ตามคำบอกเล่า และสันนิษฐานว่า พื้นที่ตั้งวัดเป็นท้องที่ลุ่ม ลาด มักถูกน้ำท่วมเป็นประจำในฤดูฝน อยู่ริมคลองเจ้าเจ็ด ซึ่งมีป่าพงรกร้างมาก จึงเป็นที่อาศัยของสัตว์ร้ายต่างๆ เช่น จระเข้ ช้าง และเสือ เป็นต้น และเป็นที่เหมาะสำหรับลี้ภัยสงครามพม่าของบรรดา เจ้าฟ้ามหากษัตริย์ในครั้งนั้น เมื่อบรรดาเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ทั้งหลายลี้ภัยสงครามมาพำนักอาศัยอยู่ในเขตนี้ตำบลนี้จึงได้สร้างปูชนียวัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้ ประชาชนได้ถือเอาเป็นนิมิตที่ดีงามจึงร่วมใจกันสร้างเสริมต่อเติมให้เป็นวัดขึ้นมา ณ ที่นี้ และเพราะเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ทั้งหลายที่ลี้ภัยสงครามมาหลายพระองค์ด้วยกัน ซึ่งคงนับได้ ๗ พระองค์ จึงได้ขนานนามวัดนี้ว่า “ วัดเจ้าเจ็ด ” ต่อมาภายหลังได้เกิดมีวัดขึ้นอีกวัดหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัดเจ้าเจ็ดนี้ มีเนื้อที่ติดต่อกัน ดังนั้นวัดเจ้าเจ็ดจึงมีคำว่า“ใน”ต่อท้ายอีกคำหนึ่ง ซึ่งมีชื่อเรียกในปัจจุบันว่า “วัดเจ้าเจ็ดใน”ส่วนวัดเจ้าเจ็ดที่อยู่ทางด้านทิศเหนือเรียก “วัดเจ้าเจ็ดนอก[1]

ศาสนวัตถุ

  • ๑.๑ พระประธานในอุโบสถ พุทธลักษณะ เป็นพระพุทธรูป ปางสมาธิ ขนาดพระเพลากว้าง ๕๙ นิ้ว สูง ๖๕ นิ้ว
  • ๑.๒ พระพุทธรูป พุทธลักษณะ ปางสมาธิ พระนามว่า “พระพุทธเกสร” สร้างด้วยเกษรดอกไม้

สถานที่สำคัญ

  • พลับพลาใจสมาน เป็นอาคารไม้ สร้างเมื่อ วันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ เพื่อเป็นเรือนรับรองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนิน พร้อมบรมวงศ์ศานุวงศ์ เป็นการส่วนพระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินต้น ที่วัดเจ้าเจ็ดใน เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๕ และตั้งแต่นั้นมา ทางวัดเจ้าเจ็ดในได้ถือวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาทอดพระกฐินต้น ซึ่งตรงกับวันขึ้น ๙ คำ เดือน ๑๒ ได้จัดงานแห่พระพุทธเกสรไปตามลำคลองเจ้าเจ็ดมุ่งสู่วัดกระโดงทอง โดยมีขบวนเรือร่วมแห่ที่สวยงาม และเมื่อกลับจาดวัดกระโดงทองแล้ว ก็จัดให้มีการถวายพระพรพระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ ในพลับพลาใจสมาน เพื่อเป็นพุทธบูชา และราชานุสรณ์ จนมาถึงปัจจุบันนี้[1]

ใกล้เคียง

วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร วัดเจดีย์ (ไอ้ไข่) วัดเจียงอีศรีมงคลวราราม วัดเจ้าอาม วัดเจ็ดยอด วัดเจดีย์เจ็ดแถว วัดเจ้าเจ็ดใน วัดเจ็ดลิน วัดเจดีย์เหลี่ยม วัดเจริญธรรมาราม (กรุงเทพมหานคร)