ศิลปกรรม ของ วัดโกโรโกโส

วัดโกโรโกโสมี หลวงพ่อดำ พระพุทธรูปประธานภายในวิหาร ประภัสสร์ ชูวิเชียร สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปแบบอยุธยาตอนต้นถึงกลาง ช่วงพุทธศตวรรษที่ 20–21 สังเกตได้จากพระพักตร์รูปเหลี่ยมและลักษณะบางประการที่สามารถเทียบเคียงได้กับพระพุทธรูปหินทรายที่สร้างขึ้นในช่วงเวลานั้น ส่วนรุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ระบุว่าเป็นพระพุทธรูปแบบอู่ทองรุ่น 3 ตอนปลาย สังเกตได้จากลักษณะการทำพระพักตร์รูปไข่ มีเส้นไรพระศก การทำสังฆาฏิเป็นแผ่นยาวจรดพระนาภี ปลายแยกเป็นเขี้ยวตะขาบ แต่พระพักตร์มีลักษณะอิ่ม กำหนดอายุอยู่ราวพุทธศตวรรษที่ 20 ตอนปลาย เชื่อมต่อต้นพุทธศตวรรษที่ 21[3]

สถาปัตยกรรมของวัด คงมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นถึงกลาง ต่อมาบูรณะในสมัยอยุธยาตอนปลายด้วยการสร้างอาคารขึ้นใหม่ในบริเวณที่ปัจจุบัน คือ วิหารหลวงพ่อดำ ส่วนซากอาคารที่หลงเหลือ เป็นแบบอยุธยาตอนปลาย สังเกตได้จากก่ออิฐถือปูนผนังหนารองรับน้ำหนักเครื่องหลังคา