ประวัติ ของ วัดโพธิ์ตาก

วัดโพธิ์ตาก หรือ วัดโพธิ์ เดิมพื้นที่มีลักษณะเป็นป่ารกชัฏติดกับแม่น้ำมูล ซึ่งบริเวณนี้มี ต้นโพธิ์ ขนาดใหญ่อายุหลายร้อยปีอยู่หนึ่งต้น

ปี พ.ศ. 2430 ได้สร้างวัดขึ้น โดยการนำของ พระอาจารย์อินทร์ อินฺทสาโร พร้อมด้วยญาติพี่น้อง ซึ่งได้อพยพมาจากบ้านขี้เหล็กหัวเรือ เมืองอุบลราชธานีศรีวะนาไลประเทษราช ย้ายมาตั้งบ้านเรือนที่ เมืองพิมูลมังษาหาร ในขณะนั้น ต่อมาได้ตั้งชื่อวัดว่า วัดโพธิ์ตาก และตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านโพธิ์ตาก ซึ่งตั้งชื่อตามลักษณะของภูมิสถานบริเวณที่ตั้งวัดและหมู่บ้านที่มี ต้นโพธิ์ ขนาดใหญ่อายุหลายร้อยปีอยู่หนึ่งต้น

ปี พ.ศ. 2474 ได้รับพระราชทาน วิสุงคามสีมา มีสถานะเป็นวัดตามกฎหมาย ซึ่งมีเขตวิสุงคามสีมา กว้าง 80 เมตร ยาว 120 เมตร

ปี พ.ศ. 2495 ได้ตั้งสำนักเรียนพระปริยัติธรรมขึ้น ณ วัดโพธิ์ตาก

ปี พ.ศ. 2500 ได้สร้าง ศาลาการเปรียญ ขึ้น เป็นอาคารไม้ทั้งหลัง ซึ่งมีขนาด กว้าง 15 เมตร ยาว 30 เมตร ปัจจุบันได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์โดยยกพื้นสูงขึ้น ชั้นล่างก่ออิฐถือปูนเป็นสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจ ชั้นบนยังคงสภาพศาลาการเปรียญไม้แบบศิลปะอีสานโบราณไว้ตามเดิม

ปี พ.ศ. 2515 ได้ก่อตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญขึ้น ณ วัดโพธิ์ตาก

ปี พ.ศ. 2521 ได้สร้าง พระอุโบสถ ขึ้นใหม่ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก มีขนาด กว้าง 7 เมตร ยาว 17 เมตร เพื่อใช้เป็นสถานที่สังฆกรรมสำหรับพระภิกษุสงฆ์

ในกาลต่อมาได้มีการสร้างอาคารเสนาสนะเพิ่มขึ้น อาทิ พระวิหาร ศาลาบำเพ็ญกุศล หอระฆัง กุฏิ เมรุ

พระอุโบสถวัดโพธิ์ตาก อ.พิบูลมังสาหาร


ปูชนียวัตถุสำคัญ คือ พระโพธิราช ซึ่งเป็นพระพุทธรูปขนาดหน้าตัก กว้าง 12 นิ้ว ศิลปวัตถุสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น จำนวน 1 องค์

ใกล้เคียง

วัดโพธิ์แมนคุณาราม วัดโพธิ์ธาตุ วัดโพธิ์ชัย (จังหวัดหนองคาย) วัดโพธิสมภรณ์ วัดโพธิ์เย็นบ้านเปือยป่าน วัดโพธิ์บางคล้า วัดโพธิ์เย็น (จีนนิกาย) วัดโพธิ์แจ้ วัดโพธิ์แทน วัดโพธิญาณ (จังหวัดพิษณุโลก)