อาคารเสนาสนะ ของ วัดโพธิ์บางโอ

พระอุโบสถมีหน้าบันสลักไม้รูปนารายณ์ทรงครุฑลายกนกขมวดเกี่ยวพันกัน เบื้องหลังมีเทพนมและยักษ์พนม ซุ้มประตูทางเข้าวัดทำเป็นหัวเม็ด เป็นเสาสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองสูงขึ้นและเอนเข้าหากัน รอบพระอุโบสถมีพาไลและกำแพงแก้ว ซุ้มใบเสมาทรงกลม ฐานของซุ้มก็เป็นทรงกลม ตัวซุ้มแหวะเป็นช่องหน้าต่างสามช่อง ทรงยอดโค้งคล้ายซุ้มจระนำ ข้างบนมียอดเล็ก ๆ ปั้นปูนลวดลายรับกับบัวยอดซุ้มและแข้งสิงห์เบื้องล่าง ลักษณะบ่งชี้ว่าเป็นฝีมือช่างสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ[1] ใบเสมาเป็นหินทรายทำรูปหัวนาคออกสองข้างเอวเสมาเหมือนกันแต่ทรงด้านบนอวบอ้วน สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเช่นกัน[1] มีเจดีย์ทิศล้อมรอบตัวพระอุโบสถทั้งสี่ด้าน ซุ้มบันแถลงประดับกรอบประตูหน้าต่างทำจากปูนน้ำอ้อย[3]

ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง เป็นจิตรกรรมแป้งสาคูเปียกฝีมือช่างสกุลนนทบุรีสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เขียนเป็นภาพปริศนาธรรม ภาพพุทธประวัติ และภาพปลงกัมมัฏฐาน ผนังเหนือหน้าต่างพระอุโบสถมีภาพเขียนกระจกเล็ก ๆ ใส่กรอบติดไว้จำนวนหลายภาพ ลักษณะฝีมือช่างจีน เพราะส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวขนบธรรมเนียมประเพณีจีน มีบางภาพเป็นแบบตะวันตก เช่น ภาพสตรีชาวตะวันตกอ่านหนังสือ แต่เมื่อ พ.ศ. 2537 และ พ.ศ. 2541 เกิดไฟไหม้ในพระอุโบสถ[1] ทำให้ภาพเขียนกระจกเหล่านี้ได้รับความเสียหาย ส่วนภาพจิตรกรรมฝาผนังก็หมองลงจากเขม่าควันไฟ

หน้าพระอุโบสถยังมีรูปสลักหินที่มาจากจีน คล้ายเป็นรูปยักษ์รักษาวัด ตนหนึ่งหน้าดุ อีกตนหนึ่งหน้ายิ้ม มือถือกระบองด้วยกันทั้งคู่ หอระฆังเป็นแบบสกุลช่างเมืองนนทบุรี มีลักษณะเป็นมณฑปยอดเจดีย์ผสมกันระหว่างหอสูงรูปสี่เหลี่ยมกับเจดีย์ย่อมุม[4] แหล่งข้อมูลบางแห่งกล่าวว่าเป็นหอระฆังที่งามที่สุดในจังหวัดนนทบุรี[1]

ใกล้เคียง

วัดโพธิ์แมนคุณาราม วัดโพธิสมภรณ์ วัดโพธิ์แจ้ วัดโพธิ์ชัย (จังหวัดหนองคาย) วัดโพธิ์ธาตุ วัดโพธิ์เย็น (จีนนิกาย) วัดโพธิ์แทน วัดโพธิ์บางโอ วัดโพธิญาณ (จังหวัดพิษณุโลก) วัดโพธินิมิตรสถิตมหาสีมาราม