ประวัติ ของ วันผู้เสียสละแห่งพม่า

ในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 เวลาประมาณ 10.37 น. ตามเวลาท้องถิ่นในพม่า ผู้นำจำนวนมากของกลุ่มที่เรียกร้องเอกราชพม่าถูกยิงโดยกลุ่มชายติดอาวุธในเครื่องแบบเมื่อพวกเขาเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีในย่างกุ้ง การลอบสังหารนี้วางแผนโดยกลุ่มการเมืองที่เป็นคู่แข่งคือกลุ่มของอูซอว์ ตามคำตัดสินของศาลพิเศษ ที่มีจอมยินต์เป็นประธานศาลและทนายความคือ อ่องทาจอ และซีบู ในคำตัดสินของศาลพิเศษลงวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2490 ศาลได้ตัดสินประหารชีวิตอูซอว์ และคนอื่น ๆ ที่เหลือถูกตัดสินจำคุก อุทธรณ์ของอูซอว์และทีมของเขาถูกปฏิเสธเมื่อ 8 มีนาคม พ.ศ. 2491 ประธานาธิบดีของพม่า เจ้าฟ้าส่วยแต้กปฏิเสธที่จะอภัยโทษ อูซอว์ถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอในเรือนจำอินเส่งเมื่อ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 ผู้กระทำผิดคนอื่นถูกลงโทษเช่นเดียวกัน ผู้ที่ทำความผิดน้อยถูกตัดสินจำคุกหลายปี

ผู้ถูกลอบสังหารได้แก่[2] อองซาน นายกรัฐมนตรี บะโช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารสนเทศ ม่านบะไคง์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม บะวี่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า ทะขิ่นเมียะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายใน อับดุล ราซัก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและการวางแผนแห่งชาติ โอน หม่อง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และโก่ ทเว่ รักษาความปลอดภัยของอับดุล ราซัก

ติน ตุต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้รับบาดเจ็บสาหัสแต่รอดชีวิต ชาวพม่าส่วนใหญ่เชื่อว่าอังกฤษมีส่วนร่วมในการลอบสังหาร เจ้าหน้าที่ชาวอังกฤษสองคนถูกจับกุมในเวลานั้น และคนหนึ่งเคยติดต่อกับคนของอูซอว์[3] หลังเหตุการณ์ลอบสังหาร เซอร์ ฮูเบิร์ต รานซ์ ผู้บริหารพม่าชาวอังกฤษได้แต่งตั้ง อูนุ เป็นประมุขของรัฐบาลเฉพาะกาล จนกระทั่งพม่าได้รับเอกราชในวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2491 อูนุจึงกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของพม่า ต่อมาวันที่ 19 กรกฎาคมจึงถูกกำหนดให้เป็นวันหยุดโดยเรียกว่าวันผู้เสียสละ