ข้อขัดแย้ง ของ วันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารี

วีรกรรมท้าวสุรนารี กล่าวถึงในจดหมายเหตุเรื่องปราบกบฏเวียงจันทน์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2469

คำให้การขุนโอฐบันทึกในใบบอกว่า "เวลาเช้าตรู่ พระยาปลัด พระยายกกระบัตร กรมการต่างคนต่างยิงปืนคนละนัด พวกครัวก็เข้าฟันแทง ทั้งพระสงฆ์ เถร เณร ผู้หญิงในครัว หนุนโห่ร้องไล่อ้ายลาวแตก" และ คำให้การอ้ายพระยานรินทร์แม่ทัพลาวที่ถูกจับ อ้างพระราชดำรัสเจ้าอนุวงศ์ว่า "อ้ายอนุบอกข้าพเจ้าว่าครัวเมืองโคราชซึ่งให้เพี้ยรามพิชัยคุมไพร่ 200 คนไปถึงบ้านสัมริด พวกครัวฆ่านายไพร่ตายเสียหมดแล้ว ให้อ้ายสุทธิสารคุมไพร่ 2,000 คน มีปืน 200 บอกยกไปรบกับครัวโคราช ณ บ้านสำริด อ้ายสุทธิสารแตกหนีมา พวกครัวฆ่านายไพร่ตายเป็นอันมาก" ซึ่งไม่มีการกล่าวถึงวีรกรรมของคุณหญิงโม แต่มีการกล่าวถึงวีรกรรมดังกล่าวในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 และ จดหมายเหตุเรื่องปราบกบฏเวียงจันทน์[9][10] ส่วนเรื่องนางสาวบุญเหลือยังไม่พบปรากฏในหลักฐานที่เป็นบันทึกใด ๆ ก่อนปี พ.ศ. 2475[9]

ในเรื่องนี้เป็นประเด็นถกเถียงอย่างกว้างขวางในปี พ.ศ. 2536 เมื่อหนังสือ การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ถูกตีพิมพ์ซึ่งหนังสือดังกล่าวปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์เรื่อง "ภาพลักษณ์ท้าวสุรนารีในประวัติศาสตร์ไทย" โดย สายพิน แก้วงามประเสริฐ นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยานิพนธ์ดีเด่นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เรื่องนี้ตั้งคำถามว่า วีรกรรมนี้เกิดขึ้นจริงหรือ ซึ่งแม้แต่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ก็เคยตั้งคำถามว่า "เรื่องท่านผู้หญิงโม้นี้ดูก็ประหลาด ...ไม่เห็นว่าแสดงแผลงอิทธิฤทธิ์อะไร เป็นแต่ว่าคุมพวกผู้หญิงเป็นกองหลังเท่านั้น ทำไมยกย่องกันหนักหนาไม่ทราบ"[11] สายพินได้เสนอว่า วีรกรรมของท้าวสุรนารีมีจริงแต่ถูกนำมาใช้เพื่อเป้าประสงค์ทางการเมือง เป็นสามัญชนคนแรกที่ทางการสร้างอนุสาวรีย์ให้ และชี้ให้เห็นความล้มเหลวของวิชาประวัติศาสตร์ ที่ไม่ช่วยให้คนในสังคมแก้ปัญหาด้วยการค้นหาความจริง[11]

การที่สำนักพิมพ์หนึ่งนำวิทยานิพนธ์ไปตัดแต่งและตั้งคำถามที่ท้าทายความเชื่อของคนในพื้นที่ ทำให้ผู้เขียนถึงขนาดถูกข่มขู่เอาชีวิตและห้ามเข้าจังหวัดนครราชสีมา[12][13]

ตามทัศนะของ รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม วีรกรรมที่ทุ่งสัมฤทธิ์อาจเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นภายหลัง โดยมีฉากหลังเป็นวีรกรรมของการร่วมแรงร่วมใจสู้รบของชาวนครราชสีมา และเนื่องด้วย ท้าวสุรนารี เป็นบุคคลที่เป็นผู้นำทางวัฒนธรรม เป็นบุคคลที่ชาวบ้านให้การยอมรับนับถือ จึงมีการแต่งเรื่องราวขึ้นภายหลัง เช่นเดียวกับพญาแถนของประเทศลาว เป็นต้น[14][ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ]

ใกล้เคียง