วันไหล
วันไหล

วันไหล

แต่เดิมมีชื่อเรียกว่า ประเพณีก่อพระทรายน้ำไหล คือ เป็นวันทำบุญขึ้นปีใหม่ที่นิยมปฏิบัติต่อๆกันมาในภาคตะวันออก และเขตภาคกลางบางจังหวัด โดยจะกำหนดหลังวันสงกรานต์ประมาณ 5-6วัน ชาวบ้านจะนิยมก่อพระเจดีย์ทรายถวายเป็นพุทธบูชา การก่อเจดีย์ทรายก็คือการขนทราย หาบทรายมากองสูงแล้วรดน้ำเอาไม้ปั้นกลึงเป็นรูปทรงเจดีย์ ปักธงทิวต่าง ๆ ตกแต่งกันอย่างวิจิตบรรจง องค์ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง สุดแต่กำลัง บ้างก็ทำเป็นกรวยเล็ก ๆ เพื่อก่อให้ครบ ๘๔,๐๐๐ กอง เท่าจำนวนพระธรรมขันธ์ เมื่อก่อเสร็จพระเจดีย์ทรายแต่ละกองก็จะมีธงทิว พร้อมด้วยผ้าป่า ตลอดจนสมณบริขารถวายพระ พระสงฆ์ก็จะพิจารณาบังสุกุล ทำบุญเลี้ยงพระ เลี้ยงพระเสร็จก็เลี้ยงคนที่ไปร่วมงานเป็นการสนุกสนานในเทศกาลตรุษ ผลที่ได้เมื่องานเสร็จแล้ว ทางวัดก็ได้ทรายไว้สำหรับสร้างเสนาสนะ ปูชนียสถานในวัดหรือถมบริเวณวัดพระสงฆ์ก็ได้เครื่องปัจจัยไทยธรรมต่าง ๆ ช่วงปลายฤดูร้อนจะย่างเข้าฤดูฝน วัดใดที่ใกล้ห้วย หนอง คลอง บึง ญาติโยมอุบาสกอุบาสิกา วัดก็จัดประเพณีก่อพระทรายน้ำไหลขึ้น วิธีการก็คือขุดลอกทรายที่ฝนซัดไหลมาลงรวมขังอยู่ตามคลอง หนอง บึง เป็นการขนทรายเข้าวัด และเป็นการพัฒนาท้องถิ่นด้วย การรวมแรงคนเพื่อร่วมบุญขุดลอก ให้สะอาดเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน น้ำฝนจะได้ไหลสะดวก คู คลอง หนอง บึง ไม่ตื้นเขิน หมู่บ้านสะอาด น้ำก็ไหลได้ตามปกติ ไม่ขังเจิ่งท่วมที่นั่นที่นี่ นี่คือประโยชน์ที่ได้จากการก่อพระทรายน้ำไหลในเทศกาล งานประเพณีนี้ชี้ให้เห็นความเจริญของวัฒนธรรมในท้องถิ่นเป็นอย่างดี แต่ด้วยสภาพของบ้านเมืองได้เปลี่ยนแปลงไป ความเจริญทางวิทยาการใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น การขนทราย โกยทราย หาบทราย เข้าวัดคนละหาบสองหาบก็เปลี่ยนสภาพมาเป็นซื้อทรายเป็นรถ ๆ ขนกันอย่างสะดวกสบาย และหลายวัดก็หมดความจำเป็นที่จะต้องใช้ทราย คู คลอง หนอง บึง ที่ทรายเคยซัดไหลมารวมกันก็ตัดเป็นถนนแปรสภาพจาก คู คลอง หนอง บึง ไปเกือบหมด จนแทบไม่มีการลอก คู คลอง หนอง บึง ในบริเวณใกล้ ๆ วัด งานก่อพระทรายน้ำไหลก็เปลี่ยนสภาพไป วัดต่าง ๆ หลายวัดไม่มีเจดีย์เป็นพุทธบูชา มีแต่เจดีย์ใส่กระดูกผี คำว่าเจดีย์ทรายก็หมดความหมายไป ก่อพระทรายเอาบุญก็เปลี่ยนสภาพไปพัฒนาไปตามกาลเวลา ก่อพระทรายน้ำไหล จึงเรียกสั้น ๆ ลงเหลือแค่ “วันไหล” หรือ “ประเพณีวันไหล”

แหล่งที่มา

WikiPedia: วันไหล http://www.bangsaensook.com/NEWS/6004-Songkran-Cho... http://www.csjoy.com/chonburi/siracha/siracha.htm http://activity.pattaya.com/thai/hightlight/festiv... http://activity.pattaya.com/thai/hightlight/wan_la... http://www.rayonghip.com/songkran-festival-2017/ http://www.tour-pattaya.com/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%... http://thai.tourismthailand.org https://www.facebook.com/saensukcity/posts/9769459... https://www.banbungcity.go.th/tradition.html