นโยบายการตรวจสอบ ของ วิกิพีเดีย:การตรวจสอบผู้ใช้

  • เครื่องมือตรวจสอบผู้ใช้ให้ใช้ในการตรวจสอบเพื่อป้องกัน จำกัดและรับมือกับการก่อกวน เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมหุ่นเชิด หรือเพื่อลดการแก้ไขบางประการอันไม่พึงประสงค์ มิใช่เครื่องมือที่ใช้เพื่อควบคุมผู้ใช้ เพื่อสร้างแรงกดดันให้แก่ผู้ใช้ หรือใช้เครื่องมือในการโจมตีหรือคุกคามผู้ใช้อื่น ไม่ว่าจะเป็นในกรณีธรรมดาหรือกรณีที่มีเนื้อหาขัดแย้งกันไม่ก็ตาม
  • ไม่ตรวจสอบการใช้บัญชีผู้ใช้มากกว่าหนึ่งบัญชีที่ไม่ละเมิดนโยบาย ได้แก่ บัญชีผู้ใช้ซึ่งแบ่งแยกการแก้ไขในแต่ละโครงการที่สนใจออกจากกัน บัญชีผู้ใช้ที่สร้างใหม่แทนบัญชีผู้ใช้เดิมที่มีปัญหาและมิได้นำไปใช้ในการก่อกวนหรือละเมิดนโยบาย (บัญชีที่เข้าข่ายสร้างเพื่อใช้ในการละเมิดนโยบาย เช่น บัญชีผู้ใช้ที่นำไปใช้ในการโหวดสนับสนุนตนเองเพื่อรับตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง (เช่น ผู้ดูแลระบบ) เป็นต้น
  • ไม่อนุญาตให้มีการตรวจสอบไอพีผู้ใช้จากผู้ใช้นั้น ๆ เอง เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าตนเองมิใช่หุ่นเชิดของผู้ใช้อื่น เนื่องจากการตรวจสอบดังกล่าวอาจถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่พึงประสงค์ได้ หากมีประเด็นที่จะสงสัยว่าเป็นหุ่นเชิดหรือเป็นผู้ใช้เดียวกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง กรุณาอย่าตื่นตระหนก เวลาและการกระทำจะเป็นเครื่องพิสูจน์ทุกสิ่งเอง (ดูเพิ่มที่ วิกิพีเดีย:หุ่นเชิด)
  • ตามนโยบายเกี่ยวกับสิทธิส่วนบุคคล ก่อนจะมีการตรวจสอบผู้ใช้ใด ๆ ตามคำขอของอีกผู้ใช้หนึ่ง ให้แจ้งผู้ใช้ที่จะถูกตรวจสอบทราบ และให้เวลาในการยอมรับหรือปฎิเสธความเกี่ยวข้องซึ่งกันและกันได้ภายในระยะเวลาอันสมควร เว้นแต่เป็นกรณีเร่งด่วนซึ่งจำเป็นต้องใช้เครื่องมือนี้ทันที เช่น การก่อกวนที่เกิดขึ้นโดยทันทีทันใด และ/หรือผู้ใช้หลายคนแสดงพฤติกรรมที่ใกล้เคียงกัน
  • ไม่รับการตรวจสอบซึ่งจะนำไปสู่การเปิดเผยไอพี (เช่น การตรวจสอบผู้ใช้กับไอพี) เนื่องจากเป็นการละเมิดนโยบายสิทธิส่วนบุคคล
  • คำขอตรวจสอบผู้ใช้จะต้องกระทำโดยผ่านทางระบบวิกิพีเดียเท่านั้น เช่น ผ่านทางหน้าพูดคุยของผู้ตรวจสอบ ผ่านทางหน้าแจ้งตรวจสอบหุ่นเชิด หรือผ่านทางฟังก์ชันส่งอีเมลหาผู้ใช้

นโยบายสิทธิส่วนบุคคล

เนื่องจากเครื่องมือตรวจสอบผู้ใช้อนุญาตให้ผู้ใช้ที่มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลได้ และมูลนิธิวิกิมีเดียถือสิทธิส่วนบุคคลของผู้แก้ไขเป็นสิ่งสำคัญมาก จึงอาจมีข้อขัดแย้งระหว่างการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลของผู้ใช้ (แม้ผู้ใช้จะก่อให้เกิดปัญหามากก็ดี) กับการป้องกันการก่อกวนและการแก้ไขที่ไม่สร้างสรรค์ ประเด็นความขัดแย้งนี้เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนและยังไม่มีหลักปฏิบัติที่เหมาะสม หลักปฏิบัติต่อไปนี้เป็นหลักทั่วไปที่ปฏิบัติในวิกิพีเดียภาษาไทย หากมีข้อสงสัย กรุณาติดต่อผู้ตรวจสอบผู้ใช้ที่มีประสบการณ์

  1. ผู้ตรวจสอบผู้ใช้มีวิจารณญาณในการตรวจสอบผู้ใช้ตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม (ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการลดหรือป้องกันการแก้ไขที่ไม่สร้างสรรค์และการก่อกวน)
  2. ผู้ตรวจสอบผู้ใช้อาจรับเรื่องไว้โดยเปิดเผยหรือไม่ก็ได้ ตามแต่สมควร
  3. ผู้ตรวจสอบผู้ใช้จะรับเรื่องที่มีเหตุผลเฉพาะเจาะจงที่รับฟังได้เท่านั้น อย่างไรก็ดีผู้ตรวจสอบผู้ใช้อาจทำการตรวจสอบโดยไม่เปิดเผยเพื่อสกัดหรือป้องกันความเสียหายได้ ทั้งนี้ต้องสอดคล้องกับนโยบายการตรวจสอบผู้ใช้
  4. ผลการตรวจสอบผู้ใช้เป็นไปตามนโยบายสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งจะไม่เปิดเผยข้อมูลที่ระบุตัวบุคคล เว้นแต่
    1. ได้รับคำยินยอมจากผู้ที่ถูกตรวจสอบนั้น
    2. หากผู้ใช้ทำการก่อกวนหรือแก้ไขโดยไม่สร้างสรรค์อย่างสม่ำเสมอ ข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบผู้ใช้อาจนำมาเปิดเผยเพื่อช่วยในการบล็อกไอพีที่มีปัญหา หรือช่วยผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตในการจัดการกับกรณีดังกล่าว ซึ่งมีการร้องเรียนไปยังผู้ให้บริการ และ
    3. หากมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการปกป้องสิทธิ์ ทรัพย์สินหรือความปลอดภัยของมูลนิธิวิกิพีเดีย ผู้ใช้ หรือสังคมโดยรวม

การไม่เปิดเผยข้อมูลไอพี

โดยปกติการระบุว่าผู้ใช้ที่ต่างชื่อบัญชีกันจะใช้ไอพีหรือช่วงไอพีร่วมกัน ไม่ถือเป็นการละเมิดนโยบาย หากไม่ระบุข้อมูลเกี่ยวกับไอพีหรือช่วงไอพีโดยชัดแจ้ง หรือในข้อมูลที่ระบุมีเพียงข้อมูลกว้าง ๆ เช่นประเทศ เครือข่าย ซึ่งไม่สามารถนำไปชี้ว่าเป็นบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ นอกจากนี้การลิงก์ไอพีกับบัญชีผู้ใช้เป็นสิ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะไอพีนั้นมักจะลิงก์กับบุคคลใดบุคคลหนึ่งเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ หรือช่วงไอพีแคบ ๆ ช่วงใดช่วงหนึ่งเท่านั้น ยิ่งช่วงไอพีกว้างขึ้น จะไม่สามารถระบุบุคคลหนึ่ง ๆ นั้นว่ามาจากไอพีใดได้เลย

ผู้ตรวจสอบผู้ใช้จะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อหลีกเลี่ยงการระบุไอพีหนึ่งเข้ากับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ในบางกรณีก็ไม่อาจเป็นเช่นนั้น ผู้ใช้ที่ทำการแก้ไขโดยไม่สร้างสรรค์อาจถูกลิงก์ไอพีกับผู้ใช้ เช่นในกรณีต่อไปนี้

  • ผู้ใช้ใช้หลายไอพี หรือใช้ทั้งบัญชีผู้ใช้และไอพีในการก่อกวนหรือแก้ไขโดยไม่สร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นในบทความเดียวหรือไม่ก็ตาม และเป็นการยากที่จะบล็อกผู้ใช้และไอพีทั้งหมด
  • ผู้ใช้ก่อกวนโดยใช้หลายบัญชีผู้ใช้ และอาจสร้างบัญชีผู้ใช้เพิ่มอีกเพื่อการก่อกวน จำเป็นต้องบล็อกช่วงไอพีที่ใช้โดยบัญชีนั้น ๆ

ผู้ใช้ที่รับมือในสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งได้ร้องขอให้บล็อกหรือมีการดำเนินการใด ๆ ที่ต้องดำเนินการโดยผู้ดูแล ให้ถือว่าเป็นกรณีที่จะใช้เครื่องมือตรวจสอบได้ และหากผู้ตรวจสอบพิจารณาแล้วว่าผู้ใช้ดังกล่าวได้รับมือในสถานการณ์ดังกล่าวจริง แต่กรณีดังกล่าวเป็นข้อพิพาทระหว่างบุคคลหรือเนื้อหา ให้ผู้ตรวจสอบตระหนักไว้ว่า การกระทำการให้วิกิพีเดียปราศจากการก่อกวนและการแก้ไขอันไม่พึงประสงค์ มีความสำคัญกว่าการปกป้องผู้ใช้ที่จงใจละเมิดนโยบาย

การเก็บข้อมูลไอพี

วิกิมีเดียตั้งโปรแกรมเพื่อเก็บข้อมูลสำหรับการตรวจสอบไว้เพียงระยะเวลาสั้น ๆ ระยะเวลาหนึ่ง เนื่องจากข้อมูลเก่าซึ่งยังเก็บอยู่ในฐานข้อมูลซึ่งแม้จะไม่มีประโยชน์แล้วก็ตาม ยังนับว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคลอยู่ โดยทั่วไปแล้วหากกรณีการตรวจสอบไม่ได้กระทำอย่างทันท่วงที หรือไม่ใช่กรณีที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อาจไม่ได้รับการตอบสนองในการตรวจสอบได้

ข้อปฏิบัติทั่วไป

ดูเพิ่มเติมที่: m:CheckUser policy

แม้ผู้ใช้จะก่อกวนก็ตาม การไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลจะเป็นการดีที่สุด กล่าวคือ

  • โดยทั่วไปจะไม่เปิดเผยไอพี จะเปิดเผยเพียงว่าใช่เครือข่ายเดียวกันหรือไม่ หากจำเป็นต้องเปิดเผย ขอให้แน่ใจว่าบุคคลที่จะมอบข้อมูลให้นั้นไว้ใจได้และจะไม่เปิดเผยข้อมูลนั้น
  • ถ้าผู้ใช้บอกว่าตนเองแก้ไขจากที่ใดที่หนึ่ง และไอพียืนยันว่าเป็นเช่นนั้นจริง จะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อยืนยัน (หากจำเป็นต้องมีการยืนยัน)
  • หากผู้ขอตรวจสอบมีข้อสงสัยไม่ว่าจะเป็นในประเด็นก็ตาม ผู้ตรวจสอบจะไม่พึงเปิดเผยข้อมูลใด ๆ ทั้งสิ้น

หลักปฏิบัติเพิ่มเติมคือ หากมีการร้องขอให้ตรวจสอบข้อมูล กรุณาให้ผู้ขอตรวจสอบแสดงหลักฐานว่าการตรวจสอบนั้นจำเป็นและพึงกระทำได้ รวมถึงใช้เหตุผลของผู้ตรวจสอบเองเพื่อพิจารณาควบคู่ไปด้วย และต้องอธิบายเหตุผลของผู้ตรวจสอบเองหากจำเป็น อย่าอนุมานว่ากรณีนี้สามารถตรวจสอบได้ ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ร้องขอให้ตรวจสอบก็ตาม

"ไม่มีหลักฐาน"

การตรวจสอบผู้ใช้โดย "ไม่มีหลักฐาน" คือการตรวจสอบผู้ใช้โดยไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่าผู้ใช้ที่ถูกตรวจสอบเป็นหุ่นเชิดของอีกคนหนึ่ง การตรวจสอบเช่นนี้ไม่เหมาะสม เว้นแต่จะมีหลักฐานที่แสดงได้ว่ามีการใช้หุ่นเชิดในทางที่ผิด สำหรับการตรวจสอบผู้ใช้ที่เป็นหุ่นเชิดโดยไม่ทราบผู้เชิดหุ่น แต่มีเหตุผลสนับสนุนว่าจะมีการกระทำการเป็นหุ่นเชิด ไม่ใช่การตรวจสอบแบบไม่มีหลักฐาน เพราะในบางกรณีอาจไม่รู้ตัวผู้เชิดหุ่นจนกว่าจะตรวจสอบก็ได้ ทั้งนี้ แม้ผลการตรวจสอบชี้ว่าไม่ใช่ มิได้หมายความว่าการตรวจสอบนั้นเป็นการตรวจสอบที่ละเมิดนโยบายแต่อย่างใด

ใกล้เคียง

วิกิพีเดียภาษาไทย วิกิพีเดีย วิกิพีเดียภาษาอังกฤษ วิกิพจนานุกรม วิกิพีเดียภาษาสเปน วิกิพีเดียภาษาคาซัค วิกิพีเดียภาษาไซลีเชีย วิกิพีเดียภาษาอินโดนีเซีย วิกิพีเดียภาษารัสเซีย วิกิพีเดียภาษากาตาลา