คำถามที่ถามบ่อย ของ วิกิพีเดีย:ลิขสิทธิ์

เราเพิ่มเนื้อหาที่มาจากที่อื่นลงในวิกิพีเดียได้หรือไม่

โดยปกติแล้ว ไม่ได้ ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่ที่อยู่ตามเว็บไซต์ หรือหนังสือต่าง ๆ มักเป็นเนื้อหาที่สงวนลิขสิทธิ์ ซึ่งแม้ว่าไม่มีประกาศแจ้งลิขสิทธิ์ ไม่ได้หมายความว่าเนื้อหานั้นเป็นสาธารณสมบัติ โดยมีบางกรณีที่สามารถนำมาใช้ได้ หากผู้เขียนอนุญาตให้ใช้เนื้อหาภายใต้สัญญาอนุญาตที่เหมาะสม โดยหากยังต้องการเขียนเนื้อหาที่สงวนลิขสิทธิ์นั้น ให้ศึกษาวิกิพีเดีย:เขียนงานอย่างไรไม่ละเมิดลิขสิทธิ์

ต้องทำอะไรบ้างหากนำเนื้อหาในวิกิพีเดียไปใช้

เนื้อหาในวิกิพีเดีย ยกเว้นข้อความที่อ้างอิงมานั้น อยู่ภายใต้สัญญาอนุญาต CC-BY-SA และ GFDL ซึ่งนำไปใช้ได้หากเนื้องานของคุณนั้นอยู่ภายใต้สัญญาอนุญาตเดียวกัน ซึ่งรวมทั้งหมายความว่าคุณควรระบุถึงผู้เขียน รวมถึงอนุญาตให้ผู้อื่นนำเนื้อหาของคุณไปใช้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ถ้าหากงานของคุณนั้นไม่สามารถอยู่ภายใต้สัญญาอนุญาตดังกล่าว การอ้างอิงจากบทความวิกิพีเดียนั้นสามารถทำได้ ภายใต้การใช้ลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยชอบ อย่างไรก็ตามรูปภาพที่ใช้ในบทความวิกิพีเดียอาจมีสัญญาอนุญาตที่แตกต่างกัน คุณสามารถคลิกที่ภาพและดูคำอธิบายลิขสิทธิ์ของแต่ละภาพได้

การคัดลอกข้อความไปลงในบล็อกส่วนตัว เว็บบอร์ด หรือเว็บไซต์อื่น

วิกิพีเดียเปิดเสรีให้ทุกคนสามารถนำไปใช้ได้ทันทีโดยไม่ต้องทำเรื่องขอ อย่างไรก็ตามตามสัญญาอนุญาต CC-BY-SA และ GFDL แล้วหากคุณนำไปใช้ในบล็อกส่วนตัวหรือเว็บบอร์ด คุณต้องเขียนข้อความและทำลิงก์ดังต่อไปนี้

  1. บอกที่มา และทำลิงก์กลับมาที่วิกิพีเดียในหน้าที่มีการนำไปใช้ โดยลิงก์กลับมาที่ตัวบทความที่คุณคัดลอกไป ไม่ใช่ลิงก์กลับมาเฉพาะเว็บ
  2. เขียนอธิบายเพิ่มเติมในลักษณะว่า ข้อมูลนี้อนุญาตให้ผู้อื่นนำไปคัดลอกต่อโดยเสรีเช่นกันตามสัญญาอนุญาต CC-BY-SA และ GFDL

สังเกตอย่างไรว่าบทความใดอาจละเมิดลิขสิทธิ์

การละเมิดลิขสิทธิ์ที่พบบ่อย มักจะมีจุดที่สังเกตได้ดังต่อไปนี้

  • ผู้ให้ข้อมูลไม่ได้สมัครสมาชิก ซึ่งแสดงเป็นหมายเลขไอพี หรือผู้ใช้ที่เพิ่งสมัครใหม่ไม่นาน ผู้ใช้กลุ่มนี้มีแนวโน้มสูงว่าจะเป็นผู้เยี่ยมชมขาจรซึ่งอาจยังไม่ทราบถึงนโยบายวิกิพีเดีย
  • เพิ่มเนื้อหาจำนวนมากในคราวเดียว หรือการจัดรูปแบบไม่เป็นวิกิ เพราะบ่อยครั้งที่ผู้ให้ข้อมูลใช้วิธี copy-paste จึงทำให้เนื้อหาไม่อยู่ในรูปแบบมาตรฐาน ดูเพิ่มที่ ประวัติตัวกรองการแก้ไขหมายเลข 26
  • การเชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์ภายนอกโดยเชื่อว่าเป็นการให้เครดิต กรณีนี้สามารถตรวจสอบได้ง่ายว่าข้อความเหมือนกันหรือคล้ายกันมากหรือไม่ ถ้าแหล่งข้อมูลนั้นไม่ได้เป็น CC-BY-SA และ GFDL หรือไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ก็อาจเป็นการละเมิดได้
  • พบเนื้อหาที่เหมือนกันบนเสิร์ชเอนจิน แสดงว่ามีเว็บไซต์อื่นที่มีข้อมูลเดียวกันนี้จึงอาจละเมิดลิขสิทธิ์ แต่กรุณาพิจารณาด้วยว่าเว็บไซต์นั้นไม่ได้คัดลอกมาจากวิกิพีเดียอีกต่อหนึ่ง (ดูจากวันที่สร้างถ้ามี)
    • ใช้เว็บจำพวก Wayback Machine เช่น http://web.archive.org ในการค้นหาเว็บที่ต้องสงสัยว่าเป็นแหล่งต้นฉบับ เพราะจะมีการระบุวันที่ไว้อย่างชัดเจน และสามารถใช้กับเว็บที่ขณะนี้ล่มไปแล้วได้ด้วย
  • ใช้เครื่องมือ http://toolserver.org/~earwig/copyvios?lang=th&project=wikipedia

หากไม่แน่ใจว่าบทความนั้นละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ ให้ติดป้าย {{ตรวจลิขสิทธิ์}} ไว้ที่ส่วนหัวของบทความ เพื่อแจ้งให้คนอื่น ๆ ทราบและช่วยกันตรวจสอบ บทความที่แจ้งจะมีรายชื่อรวมกันอยู่ที่ หมวดหมู่:บทความที่รอการตรวจลิขสิทธิ์

ควรทำอย่างไรหากพบการละเมิดลิขสิทธิ์ในวิกิพีเดีย

เราเคร่งครัดในเรื่องลิขสิทธิ์ โดยพยายามย้ายเนื้อหาที่ละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากวิกิพีเดีย แต่อาจไม่พบเจอทุกครั้ง คุณสามารถช่วยเราได้ และแจ้งได้ที่แผนกช่วยเหลือ พร้อมระบุแหล่งที่ละเมิดลิขสิทธิ์ หรือแจ้งด้วยการใช้ แม่แบบ:ละเมิดลิขสิทธิ์ ที่หน้าบทความ บทความที่ถูกแจ้งละเมิดลิขสิทธิ์จะถูกรวบรวมไว้ที่ วิกิพีเดีย:ปัญหาลิขสิทธิ์

สำหรับข้อความที่แทรกหรือเพิ่มใหม่เข้าไปในบทความที่มีอยู่แล้ว ถ้าหากละเมิดลิขสิทธิ์ สามารถลบส่วนนั้นออกได้ทันที หรือย้ายไปไว้ที่หน้าพูดคุยแล้วอธิบายว่าละเมิดจากแหล่งใด เนื่องจากเนื้อหาที่มีอยู่เดิมนั้นไม่ได้ละเมิด

ใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานเขียนในวิกิพีเดีย

ทุกคนที่นำงานเขียนมาลงไว้ในวิกิพีเดีย เป็นการตกลงยินยอมที่จะเผยแพร่ผลงานนั้น ภายใต้สัญญาอนุญาต (การให้ใช้สิทธิในผลงานอันมีลิขสิทธิ์) แบบ CC-BY-SA และ GFDL ซึ่งหมายความว่าใครสามารถนำไปใช้ก็ได้ แต่มีเงื่อนไขว่า คนที่เอาไปใช้ต้องให้สิทธิภายใต้ CC-BY-SA และ GFDL ต่อคนอื่นต่อไป ซึ่งทำให้คนใช้ต่อไป ต้องแบ่งปันให้คนอื่นต่อ ๆ ไป ซึ่งสัญญาอนุญาตรูปแบบนี้จะทำให้เกิดการแบ่งปันข้อมูลอย่างสมบูรณ์ โดยอาจกล่าวได้ว่าทุกคนจะได้รับสิทธิภายใต้ CC-BY-SA และ GFDL โดยเท่าเทียมกัน.

ทั้งนี้ ลิขสิทธิ์ต่าง ๆ ของผลงานในวิกิพีเดีย (เฉพาะในส่วนที่ผู้เขียนได้สร้างสรรค์ขึ้นด้วยตนเอง) ยังคงตกเป็นของผู้สร้างสรรค์งานแต่เพียงผู้เดียว ภายใต้ความคุ้มครองของกฎหมายลิขสิทธิ์

การประกาศให้ใช้สัญญาอนุญาต CC-BY-SA และ GFDL นี้, จะไม่มีผลทำให้ ผู้สร้างสรรค์สูญเสียความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานของตนเองแต่อย่างใด, โดย เจ้าของผลงาน จะยังคงมีสิทธิที่จะนำงานในส่วนของตนไปเผยแพร่ ภายใต้สัญญาอนุญาต แบบอื่น ๆ ในรูปแบบใดก็ได้ เท่าที่ กฎหมายรับรองการประกาศสัญญาอนุญาต CC-BY-SA และ GFDL นี้, เป็นเพียงการที่เจ้าของผลงาน อนุญาต ให้ผู้อื่น ใช้สอย/ดัดแปลงแก้ไข/เผยแพร่ ผลงานนี้ได้ ภายใต้เงื่อนไขของ CC-BY-SA และ GFDL เท่านั้น (ทั้งนี้ เจ้าของผลงาน ไม่สามารถที่จะเรียกคืนหรือ ยกเลิก สัญญาอนุญาต CC-BY-SA และ GFDL ในผลงานที่ประกาศออกไปแล้วได้)

ใกล้เคียง

วิกิพีเดียภาษาไทย วิกิพีเดีย วิกิพีเดียภาษาอังกฤษ วิกิพจนานุกรม วิกิพีเดียภาษาสเปน วิกิพีเดียภาษารัสเซีย วิกิพีเดียภาษาคาซัค วิกิพีเดียภาษาอินโดนีเซีย วิกิพีเดียภาษาไซลีเซีย วิกิพีเดียภาษากาตาลา