ประวัติ ของ วิทยาลัยชุมชนหนองบัวลำภู

วิทยาลัยชุมชนหนองบัวลำภู แรกเริ่มจัดตั้งขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล โดยยึดหลักการ "การศึกษาสร้างชาติ สร้างคน สร้างงาน" โดยเฉพาะในจังหวัดที่ขาดแคลนสถาบันอุดมศึกษา ในปี พ.ศ. 2545 ได้มีการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนขึ้นใน 10 จังหวัด จังหวัดหนองบัวลำภูเป็นจังหวัดหนึ่งที่ได้รับการจัดตั้ง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2545 ในระยะเริ่มต้นจังหวัดหนองบัวลำภู ได้ขอความร่วมมือ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดหนองบัวลำภูเป็นผู้ดำเนินการโครงการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนจังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งมีการประชุมระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการ ประกอบด้วย วิทยาลัยเทคนิคหนองบัวลำภู โรงเรียนในสังกัดกรมสามัญศึกษาในจังหวัดทุกอำเภอ สำนักงานการศึกษานอกโรงเรียน และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันมอบให้วิทยาลัยเทคนิคหนองบัวลำภูเป็นแม่ข่ายในการบริหารจัดการ และโรงเรียนในสังกัดกรมกรมสามัญศึกษา วิทยาลัยการอาชีพศรีบุญเรือง และ สำนักงานการศึกษานอกโรงเรียนเป็นเครือข่าย โดยมีคำสั่งแต่งตั้งให้ นายอำพล ดีรัศมี ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคหนองบัวลำภู เป็นผู้อำนวยการสำนักงานวิทยาลัยชุมชนจังหวัดหนองบัวลำภู อีกตำแหน่งหนึ่ง ต่อมาเกษียณอายุราชการ มีนายไพบูลย์ พันธนิติ ผู้อำนวยการเทคนิคหนองบัวลำภู ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานวิทยาลัยชุมชนจังหวัดหนองบัวลำภู อีกตำแหน่งแทน มีนายปรีชา รัตนสังข์ เป็นประธานคณะกรรมการสภา

ต่อมาปี พ.ศ. 2546 กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศกฎกระทรวง ว่าด้วยการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาต่ำกว่าปริญญารูปแบบวิทยาลัยชุมชน พ.ศ. 2546 จึงมีการดำเนินการให้ได้มาซึ่งคณะกรรมการสภาวิทยาลัยและผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนหนองบัวลำภู (ตามกฎกระทรวงได้ตัดคำว่า “จังหวัด”ชื่อวิทยาลัยจึงเป็น“วิทยาลัยชุมชนหนองบัวลำภู”) จากการสรรหาที่ประชุมมีมติให้นายกิตติ ยศภา เป็นประธานคณะกรรมการสภาวิทยาลัย โดยมี ว่าที่ร้อยตรีวีระ บุราณรักษ์ เป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนหนองบัวลำภู และวิทยาลัยชุมชนเป็นสถานศึกษาอยู่ภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา โดยมีการกำหนดกรอบอัตรากำลังซึ่งเป็นข้าราชการครู 16 อัตรา พนักงานราชการ 14 อัตรา เพื่อการบริหารงาน อีกทั้งยังมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการศึกษาจากแม่ข่ายเครือข่ายเป็นวิทยาลัยและหน่วยจัดการศึกษา และในวันที่ 14 กรกฎาคม 2547 วิทยาลัยได้ย้ายสำนักงานจากวิทยาลัยเทคนิคหนองบัวลำภูมาใช้สถานที่ตั้งสำนักงานแห่งใหม่เป็นศูนย์ราชการจังหวัดหนองบัวลำภู(อาคารอนาลโย ชั้น๒) มีหน่วยจัดการศึกษาประกอบด้วย วิทยาลัยเทคนิคหนองบัวลำภู วิทยาลัยการอาชีพศรีบุญเรือง  โรงเรียนสุวรรณคูหาพิทยาสรรพ์  โรงเรียนคำแสนพิทยาสรรค์  โรงเรียนนาวังศึกษาวิช  โรงเรียนโนนสังวิทยาคาร  โรงเรียนเทศบาลเมืองหนองบัวลำภู  สถานีตำรวจภูธรอำเภอศรีบุญเรือง องค์การบริหารส่วนตำบลโนนทัน เทศบาลตำบลกุดดินจี่ และสำนักงานการศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดหนองบัวลำภู จากความต้องการของผู้เรียนในระดับอนุปริญญามีจำนวนมากทำให้วิทยาลัยจำเป็นต้องมีสถานที่รองรับผู้เรียน นายแพทย์ศราวุธ  สันตินันตรักษ์ ซี่งเป็นประธานคณะกรรมการสภาวิทยาลัยชุมชนหนองบัวลำภูขณะนั้น จึงมีนโยบายให้วิทยาลัยจัดหาสถานที่แห่งใหม่สำหรับการก่อสร้างอาคารวิทยาบริการ จึงได้มอบให้ผู้อำนวยการวิทยาลัยว่าที่ร้อยตรีวีระ บุราณรักษ์ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานที่ดินจังหวัด ธนารักษ์พื้นที่จังหวัด และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อให้ได้มาซึ่งสถานที่แห่งใหม่ จากการประสานและนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการสภาวิทยาลัยชุมชน ได้เห็นชอบและ    มีมติ ให้ใช้สถานที่บริเวณที่สาธารณะที่เรียกว่า “โคกหนองหมาจอก” ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านพร้าว จำนวน 200 ไร่  และองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านพร้าว พร้อมทั้งประชาชนในพื้นที่ เห็นชอบร่วมกันให้วิทยาลัยชุมชนหนองบัวลำภูใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ตั้งวิทยาลัย

ต่อมา พ.ศ. 2549 นายอดิศักดิ์ ศรีภูมั่น อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ได้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนหนองบัวลำภู และนายวีระชัย   กวีธีระวัฒน์ รองผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนพิจิตร  ได้มาปฏิบัติหน้าที่รักษาราชการแทนผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนหองบัวลำภู โดยมีนายพิศาล เชยคำแหง เป็นประธานสภาวิทยาลัยชุมชน ได้ประสานงาน และดำเนินการต่อในส่วนที่เกี่ยวข้องและใช้พื้นที่เป็นที่ตั้งวิทยาลัยชุมชนดังกล่าว และปี พ.ศ. 2553 นายไพบูลย์ พันธนิติ ได้รับการสรรหาเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยหนองบัวลำภู

ปัจจุบันวิทยาลัยชุมชนได้มีการบริหารงานภายใต้พระราชบัญญัติวิทยาลัยชุมชน พ.ศ. 2558 โดยมี  นายวิทวัส วทานิโยบล เป็นประธานสภาวิทยาลัย  ปัจจุบัน ผศ.นพพร โฆสิระโยธิน เป็นประธานสภาวิทยาลัยหนองบัวลำภู และมีนายพงษ์ศักดิ์ ศรีวรกุล มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนหนองบัวลำภู จนถึงปัจจุบัน[2]  

ใกล้เคียง

วิทยา วิทยาศาสตร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) สถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออก วิทยาการหุ่นยนต์ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม