ประวัติ ของ วิทยาลัยเพาะช่าง_มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์

อาคารเก่าโรงเรียนเพาะช่าง (ปัจจุบันถูกระเบิดทำลายไปในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง)อาคารเรียนและตึกกลางเพาะช่าง ในปี พ.ศ. 2509
  • พ.ศ. 2448 – ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ ในปัจจุบัน) ได้ก่อตั้งกองช่างแกะไม้ขึ้น เพื่อทำแม่พิมพ์เป็นภาพประกอบแบบเรียนของกองแบบเรียน กระทรวงธรรมการ ประกอบด้วยช่างเขียนและช่างแกะไม้
  • พ.ศ. 2450 – ยกฐานะกองช่างแกะไม้เป็นสโมสรช่าง สโมสรสาขาหนึ่งในสามัคยาจารย์สมาคม ในกระทรวงธรรมการ เริ่มรับนักเรียนฝึกหัดเป็นช่างทั้งสองประเภท นับเป็นการเริ่มต้นในการจัดการศึกษาทางด้านช่างศิลปหัตถกรรม
  • พ.ศ. 2452 – ขยายกิจการของสโมสรช่าง โดยเพิ่มช่างปั้น ช่างกลึง และช่างประดับมุก
  • พ.ศ. 2453 – เพิ่มแผนกวิชาช่างถม ประกอบด้วยฝ่ายขึ้นรูป การสลักลาย และการลงน้ำยา ต่อมากระทรวงธรรมการ ต้องการฝึกหัดครูไปสอนในโรงเรียนต่าง ๆ ตามหลักสูตรใหม่สามัคยาจารย์สมาคม จึงโอนโรงเรียนเพาะช่าง พร้อมทั้งโรงงานช่างให้แก่กระทรวงธรรมการ เมื่อวันที่ 1 มกราคม
  • พ.ศ. 2454 – เปลี่ยนชื่อว่า "โรงเรียนหัตถกรรมราชบูรณะ" จัดเป็นโรงเรียนสอนวิชาพณิชยกรรมเกษตรกรรมและศิลปกรรมขึ้นเป็นครั้งแรก พระราชดำริในอันที่จะทรงทำนุบำรุงศิลปะการช่างและหัตถกรรมไทยให้เจริญพัฒนาถาวรของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังหาได้สำเร็จสมดังพระราชหฤทัยไม่ ด้วยเสด็จสวรรคตเสียก่อน

ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงสืบทอดพระราชดำริของสมเด็จพระบรมชนกนาถต่อมา ประจวบกับบรรดาข้าราชการในกระทรวงธรรมการ ได้เรี่ยไรกันสร้างอาคารเรียน 2 ชั้นขึ้น ในโรงเรียนหัตถกรรมราชบูรณะเป็นถาวรวัตถุ อุทิศเกล้าถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคารเรียน และพระราชทานว่า "โรงเรียนเพาะช่าง"

  • พ.ศ. 2456 – เปลี่ยนแผนกวิชาช่างออกแบบอย่างก่อสร้างที่เปิดสอนมาแต่ พ.ศ. 2455 เป็นแผนกสถาปัตยกรรม โรงเรียนเพาะช่างในสมัยแรก มีแผนกพิมพ์รูป แผนกช่างเขียน แผนกช่างปั้น แผนกช่างแกะ แผนกช่างถม แผนกช่างกลึง แผนกช่างไม้ และแผนกสถาปัตยกรรม นอกจากนี้ยังมีวิชาที่เรียน คือ วิชาภาพร่าง วิชาลายไทย วิชาลายฝรั่ง วิชาวาดเส้น วิชาเขียนพู่กัน วิชาช่างแบบอย่าง และวิชาเรขาคณิต
  • พ.ศ. 2460 – ความต้องการครูสอนวาดเขียนในโรงเรียนต่าง ๆ มีมากขึ้น โดยที่ยังไม่มีสถาบันใดผลิตครูสอนสาขาวิชานี้ กระทรวงธรรมการจึงอนุมัติให้โรงเรียนเพาะช่างเปิดแผนกฝึกหัดครูขึ้นอีกแผนกหนึ่งคือ ประกาศนียบัตรครูวาดเขียนตรีและครูวาดเขียนโท มีหลักสูตรการเรียน 4 ปี
  • พ.ศ. 2461 – พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย มาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนเพาะช่าง จนกระทั่งสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2465 ตลอดระยะเวลาที่ทรงรับราชการ ได้ทรงบริหารการศึกษาศิลปหัตถกรรมของโรงเรียนเพาะช่างให้เจริญรุ่งเรืองเป็นอันมาก ได้รับความนิยมตั้งแต่พระมหากษัตริย์ จนถึงเจ้านาย ข้าราชการ และบุคคลทั่วไป ตลอดชาวต่างประเทศ ทรงจัดตั้งแผนกช่างทอง แผนกเจียระไนเพชรพลอย แผนกทำบล็อกสกรีน โดยเฉพาะเครื่องถม ได้ขยายวิธีการไปอย่างกว้างขวางจนเป็นที่แพร่หลาย เป็นที่รู้จักมาจนถึงปัจจุบันคือ "ถมจุฑาธุช" ทรงจัดให้มีพิธีไหว้ครูช่างแบบอย่างโบราณขึ้นในโรงเรียนเพาะช่างเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2463 และทรงคิดสีประจำโรงเรียนคือ "สีแดงสีดำ" สีแดงหมายถึงเลือดของช่าง สีดำหมายถึงไม่ใช่ช่าง เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติให้ช่างทั้งหลายได้มีเลือดเป็นสีแดงอยู่เสมอ อย่าให้สีแดงของช่างจางไปหรือกลายเป็นสีดำ

ทรงขยายแผนกการค้า ทรงสร้างห้องแสดงสินค้าห้องประชุมโรงเรียน จนกระทั่งนำผลกำไรจากการค้าของโรงเรียนไปสร้างโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายขึ้นอีกโรงเรียนหนึ่ง (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ในปัจจุบัน)

  • พ.ศ. 2466–2472 – เปิดแผนกช่างถ่ายรูป ซึ่งในช่วงนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงสนพระทัย เสด็จทอดพระเนตรกิจการของโรงเรียนเพาะช่าง
  • พ.ศ. 2473 – แผนกสถาปัตยกรรมได้แยกไปตั้งเป็น คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย งานช่างศิลปะในโรงเรียนเพาะช่าง ยังคงเหลืออยู่ 15 แขนง ในขณะนั้นได้แก่ ช่างวาดเขียน ช่างปั้น ช่างพิมพ์บล็อกสกรีน ช่างโลหะรูปพรรณ (ช่างทอง) ช่างเพชรพลอย (เจียระไนและฝัง) ช่างเงิน (ขึ้นรูป–สลักดุน) ช่างถม ช่างลงยา ช่างรัก (ฝังมุกและลายรดน้ำ) ช่างไม้ ช่างแกะสลัก ช่างจักสาน ช่างกลึงร่างออกแบบ และช่างถ่ายรูป
  • พ.ศ. 2477 – ได้มีการเปลี่ยนแปลง โดยเลิกล้มแผนกฝึกหัดครู (ครูสอนวาดเขียนตรี–โท) เปิดเป็นแผนกมัธยมการช่าง หลักสูตร 4 ปี รับผู้สำเร็จมัธยมปีที่ 4 เข้าเรียน จบแล้วไปประกอบอาชีพช่างเขียน ถ้าจะเป็นครูก็ต้องเรียนวิชาครูที่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมอีก 1 ปี จะได้ประกาศนียบัตรประโยคครูประถมการช่าง และได้เปิดแผนกฝึกหัดครูสตรีขึ้นอีกแผนกหนึ่ง รับนักเรียนสตรีที่สำเร็จมัธยมปีที่ 6 เข้าเรียน หลักสูตร 2 ปี สำเร็จแล้วจะได้รับประกาศนียบัตรผู้สอนวาดเขียนตรี
  • พ.ศ. 2482 – เลิกล้มแผนฝึกหัดครูทั้งชายและหญิง จัดตั้งเป็นแผนกฝึกหัดครูประถมการช่าง หลักสูตร 3 ปี รับผู้สำเร็จชั้นมัธยมปีที่ 6 ทั้งชายและหญิงเข้าเรียน ผู้สำเร็จจะได้รับประกาศนียบัตรประโยคครูประถมการช่าง และเปิดแผนกไม้ไผ่ขึ้นอีกแผนกหนึ่ง
พระอนุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย ภายในวิทยาลัยเพาะช่างอาคารภาควิชาออกแบบ วิทยาลัยเพาะช่าง ในปัจจุบัน
  • พ.ศ. 2486 – วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2486 อาคารหลังกลาง คืออาคารที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาเปิด ถูกระเบิดทำลายเสียหายหมดสิ้น ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงเรียนเพาะช่างต้องย้ายที่ทำการไปเปิดการสอนชั่วคราวอยู่ที่วัดนางนอง ตำบลบางค้อ เขตบางขุนเทียน ธนบุรี และต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2487 อาคารริมถนนตรีเพชร ก็ถูกระเบิดทำลายลงอีก เมื่อสงครามสงบใน พ.ศ. 2488 โรงเรียนก็ได้ย้ายมาเปิดทำการใหม่ในที่เดิม โดยปลูกเพิงหลังคามุงจากใช้เรียนชั่วคราว
  • พ.ศ. 2489 – นายจิตร บัวบุศย์ (ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ประกิต บัวบุศย์) อาจารย์โรงเรียนเพาะช่าง ซึ่งได้รับทุนไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ พ.ศ. 2484 เดินทางกลับมาถึง ได้รับมอบหมายจากกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นผู้ออกแบบโครงการก่อสร้างอาคารโรงเรียนเพาะช่าง และได้ปรับปรุงหลักสูตรใหม่ โดยนำวิธีการและหลักสูตรแผนใหม่เข้ามาใช้ในการศึกษาศิลปหัตถกรรมตามหลักอะคาเดมีของอารยประเทศ นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ได้เปลี่ยนแปลงการศึกษาทางศิลปกรรมสากล
  • พ.ศ. 2500 – โครงการก่อสร้างโรงเรียนเพาะช่างแล้วเสร็จ ได้อาคารทรงไทยประยุกต์เป็นศรีสง่า 3 หลัง เพิ่มวิชาภาพแกะไม้ขึ้นมาสอนกันใหม่ในวิชาศิลปกรรม นำวิชาเครื่องเคลือบโลหะสอนเพิ่มในแผนกเครื่องโลหะ วิชาการสานหวายเพิ่มในแผนกเครื่องไม้ไผ่ และวิชาการย้อมสีลวดลายด้วยวิธีบาติกสอนเพิ่มในแผนกเครื่องทอ–ย้อม โรงเรียนเพาะช่างได้รับความนิยมอย่างสูง มีผู้สนใจเข้าเรียนเป็นจำนวนมาก กระทรวงศึกษาธิการได้อนุมัติให้เปิดสอนทั้งรอบเช้าและรอบบ่าย การศึกษาโรงเรียนได้แบ่งเป็น 3 แผนก คือ แผนกฝึกหัดครู แผนกวิจิตรศิลป และแผนกหัตถกรรม มีหลักสูตร 3 ปี และ 5 ปี

เปิดแผนกศิลปะประยุกต์ หลักสูตร 3 ปี รับผู้สำเร็จมัธยม ปีที่ 6 ทั้งชายและหญิงเรียนวิชาการดิน การรัก การสาน การโลหะ การทำพิมพ์ หล่อพิมพ์ และการทอพรม เพิ่มวิชาการออกแบบในแผนกหัตถกรรมและวิชาการทำลวดลายนูนในวิชาเครื่องรัก

  • พ.ศ. 2502 – กระทรวงศึกษาธิการอนุมัติให้สร้างอาคารศิลปประยุกต์ (อาคารหัตถกรรม)
  • พ.ศ. 2505 – เปิดแผนกช่างบล็อกแม่พิมพ์ขึ้นอีกเป็นวิชาเสริมหลักสูตร
  • พ.ศ. 2506 – พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดการแสดงภาพเขียน ของเหม เวชกร และเพื่อน พร้อมครูอาจารย์โรงเรียนเพาะช่าง โดยจัดร่วมกับสโมสรโรตารีแห่งประเทศไทย
  • พ.ศ. 2507 – พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดงานแสดงภาพถ่าย ครั้งที่ 3 ซึ่งจัดโดยสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ร่วมกับโรงเรียนเพาะช่าง และทอดพระเนตรกิจการของโรงเรียนเพาะช่างด้วย
  • พ.ศ. 2509 – เปิดแผนกพาณิชย์ศิลป์ หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง 2 ปี โดยยุบเลิกแผนกศิลปะประยุกต์ไปรวมกับแผนกหัตถกรรม
  • พ.ศ. 2510 – สร้างอาคารเรียนทฤษฎีหลังใหม่ 4 ชั้น (อาคาร 5)

กระทรวงศึกษาธิการยกฐานะโรงเรียนเพาะช่างให้เป็นวิทยาลัย พร้อมกับอนุมัติให้เปิดรับนักศึกษาภาคบ่ายขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

  • พ.ศ. 2513 – สร้างอาคารเรียน 4 (อาคาร 6)
  • พ.ศ. 2515 – ปรับปรุงหลักสูตรใหม่ 3 ปี แรกจากหลักสูตรประกาศนียบัตรประโยคครูประถมการช่าง และ มศ.6 เป็นหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ แทนส่วนระดับประกาศนียบัตรประโยคครูมัธยมการช่าง ให้ยุบเลิกไปด้วย คงเหลือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ซึ่งยกฐานะแผนกเป็นคณะวิชาคือ คณะศิลปประจำชาติ คณะวิจิตรศิลปกรรม คณะออกแบบ และคณะหัตถกรรม มีแผนกต่าง ๆ สังกัดอย่างเช่นปัจจุบัน เพื่อขยายความต้องการครูศิลปะที่กว้างขึ้น จึงให้ผู้เรียนสำเร็จประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง เข้าศึกษาต่ออีก 1 ปี ในหลักสูตรประกาศนียบัตรครูมัธยมศิลปหัตถกรรม (ปม.ศ.)
  • พ.ศ. 2517 – กระทรวงศึกษาธิการอนุมัติให้เปิดสอนหลักสูตรเทียบเท่าปริญญาตรี โดยขยายหลักสูตรประกาศนียบัตรครูมัธยมศิลปหัตถกรรม ต่ออีก 1 ปี เป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรครูเทคนิคชั้นสูง (ปทส.) สาขาศิลปกรรม หลักสูตร 2 ปี
  • พ.ศ. 2518 – จัดตั้งวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา เพื่อยกฐานะทางการศึกษาด้านวิชาชีพให้สูงถึงระดับปริญญา เปิดการศึกษา 6 สาขา รวมทั้งโรงเรียนเพาะช่างให้เปิดสายศิลปกรรมในนามคณะศิลปกรรม
  • พ.ศ. 2519 – ยกเลิกหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ และได้งบประมาณก่อสร้างอาคาร 7 ชั้น (อาคาร 3)
  • พ.ศ. 2520 – กระทรวงศึกษาธิการ ได้โอนกิจการของโรงเรียนเพาะช่าง จากกรมอาชีวศึกษา ไปสังกัดวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา โดยมีสถานภาพเป็น "วิทยาเขตเพาะช่าง"[3]
  • พ.ศ. 2523 – ปรับปรุงหลักสูตรใหม่เพื่อให้สอดคล้องตลาดวิชาชีพและโครงสร้างหลักสูตรรวมของวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ยกฐานะแผนกวิชาสามัญเป็นคณะวิชาสามัญวิชาชีพร่วม เป็นคณะวิชาสัมพันธ์วิชาชีพ และระดับประกาศนียบัตรครูมัธยมศิลปหัตถกรรม เป็นคณะวิชาศิลปกรรมศึกษา
  • พ.ศ. 2527 – ได้งบประมาณสร้างอาคารเรียน 7 ชั้น (อาคาร 2) ปรับปรุงหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ที่ใช้มาแต่ปี 2523
  • พ.ศ. 2531 – พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาใหม่เป็นสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2531
  • พ.ศ. 2533 – ได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคาร 7 ชั้น (อาคารจุฑาธุช) งบประมาณพิเศษจากการสนับสนุนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตพระนคร สุเทพ วงศ์กำแหง แล้วขอประทานนามอาคารจากพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา ว่าอาคาร "จุฑาธุช" ตามพระนามของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย
  • พ.ศ. 2535 – แผนกศิลปะการถ่ายภาพได้ย้ายจากคณะวิชาวิจิตรศิลป์มาสังกัดคณะวิชาออกแบบ และคณะศิลปกรรมก็ได้ขยายที่ทำการจากวิทยาเขตเพาะช่าง เปิดทำการสอนหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี ณ ศูนย์กลางสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ตำบลคลองหก อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี
  • พ.ศ. 2537 – ได้มีการรื้อฟื้นสร้าง "หอศิลป์ เพาะช่าง" ขึ้นมาอีกครั้ง โดยใช้บริเวณชั้นล่างของตึกคณะออกแบบ ซึ่งประตูทางเข้าอยู่ติดกับฝั่งถนนตรีเพชร เพื่อเป็นสถานที่แสดงผลงานนักศึกษาและศิษย์เก่า แก่ประชาชนและผู้ประกอบการทั่วไป รวมไปถึงการสร้างรูปหล่อของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย ขึ้นมาตรงบริเวณเสาธงหน้าบ่อเต่า โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเปิดนิทรรศการภาพถ่ายของสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ณ วิทยาเขตเพาะช่าง พร้อมทั้งทรงเปิดพระอนุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย และในปีการศึกษา 2537 นี้ได้เปิดหลักสูตรระดับปริญญาตรี ศิลปบัณฑิต สาขาวิชาออกแบบพาณิชยศิลป์–ศิลปการถ่ายภาพ หลักสูตรต่อเนื่อง 2 ปีหลัง
  • พ.ศ. 2540 – พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จพระดำเนินเปิดนิทรรศการศิลปกรรมและวิชาการของอาจารย์เพาะช่าง ณ หอศิลป์เพาะช่าง ในปี พ.ศ. 2542 เสด็จฯ เปิดนิทรรศการศิลปะเด็กและเยาวชน เรื่อง "ในหลวงกับการพัฒนาสังคมไทย" วิทยาเขตเพาะช่างจัดร่วมกับมูลนิธิเพื่อสังคมไทย เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ครบรอบ 72 พรรษา พ.ศ. 2542 สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ได้อนุมัติโครงการเปิดสอนระดับปริญญาตรี หลักสูตรศิลปบัณฑิต (ต่อเนื่อง 2 ปี) ภาคปกติ เพิ่มขึ้นในวิทยาเขตเพาะช่าง อีก 3 สาขา คือ สาขาวิชาหัตถกรรม สาขาวิชาศิลปะไทย และสาขาวิชาจิตรกรรม
  • พ.ศ. 2543 – เปิดสอนหลักสูตรศิลปบัณฑิต (ต่อเนื่อง 2 ปี) สาขาวิชาเครื่องโลหะและรูปพรรณอัญมณี เพิ่มขึ้นอีก 1 สาขาวิชา การจัดการศึกษาในระดับปริญญาตรีในปีนี้จึงมี 5 สาขา คือ ศิลปบัณฑิต สาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์–ศิลปการถ่ายภาพ สาขาวิชาหัตถกรรม สาขาวิชาศิลปะไทย สาขาวิชาจิตรกรรม และสาขาวิชาเครื่องโลหะและรูปพรรณอัญมณี
  • พ.ศ. 2546 – ปรับปรุงและซ่อมแซมองค์พระวิษณุกรรม ทั้ง 2 องค์ใหม่ วิทยาเขตได้อนุมัติให้เปิดสอนหลักสูตรศิลปบัณฑิต เพิ่มอีก 3 สาขาวิชา ในหลักสูตรสายตรง 4 ปี คือ สาขาวิชาหัตถกรรม สาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ และสาขาวิชาเครื่องปั้นดินเผา ส่วนหลักสูตรศิลปบัณฑิต ต่อเนื่อง 2 ปี ที่เปิดสอนในปีนี้คือ สาขาวิชาศิลปะไทย สาขาวิชาจิตรกรรม สาขาวิชาโลหะรูปพรรณและอัญมณี และสาขาวิชาหัตถกรรม
  • พ.ศ. 2547 – ได้มีการปรับปรุงตึกคณะออกแบบครั้งใหญ่ โดยปรับปรุงตกแต่งสถานที่รวมไปถึงอุปกรณ์การเรียนให้ทันสมัยยิ่งขึ้น และวิทยาเขตได้อนุมัติให้เปิดหลักสูตรศิลปบัณฑิต 4 ปี ปกติ เพิ่มอีก 3 สาขา ได้แก่ สาขาวิชาจิตรกรรม สาขาวิชาประติมากรรม และสาขาวิชาออกแบบภายใน ภาคสมทบ 2 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ และสาขาวิชาออกแบบภายใน
  • พ.ศ. 2549 – สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ได้เปลี่ยนฐานะเป็นมหาวิทยาลัย ทำให้เพาะช่างต้องเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น "คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์" โดยลบคำว่าเพาะช่างออกไป ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน[4][5] ในปีนี้ได้มีโครงการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรในหลาย ๆ แขนงวิชาให้เป็นหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี และบางสาขาวิชาให้มีหลักสูตร 2 ปีหลังต่อเนื่อง
  • พ.ศ. 2550 – หลังจากได้เปลี่ยนชื่อและโครงสร้างของสถาบันเป็น "คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์" ทำให้กลุ่มศิษย์ปัจจุบัน ศิษย์เก่า คณาจารย์ ซึ่งนำโดยศิษย์เก่าซึ่งเป็นนักวิชาการด้านศิลปะ ศิลปินแห่งชาติ แสดงความเห็นคัดค้านกับการลบชื่อ "เพาะช่าง" ออกไป เนื่องจากคำว่า เพาะช่าง เป็นคำพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมไปถึงเป็นตักศิลาเก่าแก่ด้านศิลปะของชาติ ได้มีการชุมนุมใหญ่ของศิษย์เก่าในวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2550 โดยศิษย์เก่าจำนวนมากได้ใส่เสื้อดำแสดงความไม่เห็นด้วยกับการลบชื่อเพาะช่าง รวมไปถึงมีการยื่นเรื่องสอบถามร้องเรียนกับทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ รวมไปถึงสือมวลชน จนท้ายสุดทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ จึงเปลี่ยนแปลงชื่อของสถาบันให้อีกครั้งเป็นกรณีพิเศษโดยยังคงชื่อเพาะช่างไว้เป็นชื่อหน่วยงาน วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์[6]
  • พ.ศ. 2557 – สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงานศิลปะปูนปั้นแห่งประเทศไทย เจ้าภาพ วิทยาลัยเพาะช่าง ณ หอศิลป์เจ้าฟ้า พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 28 วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ทูลเกล้าถวายปริญญาศิลปดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการถ่ายภาพ แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ใกล้เคียง

วิทยา วิทยาศาสตร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) สถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออก วิทยาการหุ่นยนต์ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

แหล่งที่มา

WikiPedia: วิทยาลัยเพาะช่าง_มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ http://maps.google.com/maps?ll=13.744268,100.49930... http://maps.google.com/maps?t=k&q=Thailand&ll=13.7... http://www.multimap.com/map/browse.cgi?lat=13.7442... http://www.terraserver.com/imagery/image_gx.asp?cp... http://www.globalguide.org?lat=13.744268&long=100.... http://www.wikimapia.org/maps?ll=13.744268,100.499... //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... http://www.pohchang.rmutr.ac.th/ http://www.manager.co.th/MetroLife/ViewNews.aspx?N... http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=...