การทำงานที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ของ วิบูลย์_คูหิรัญ

การทำงานที่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้ปฏิบัติหน้าที่อยู่สำนักงานไฟฟ้าชนบท เพื่อช่วยเร่งรัดการจ่ายไฟให้ชนบททั่วประเทศ ระหว่างปี พ.ศ. 2516-2535 ได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานโครงการเร่งรัดพัฒนาไฟฟ้าชนบท ระหว่างปี พ.ศ. 2530-2535 และดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (รวมทั้งเป็นกรรมการ และกรรมการบริหาร) ระหว่าง พ.ศ. 2542-2545

เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) นายวิบูลย์ คูหิรัญ ถือเป็นผู้ที่ได้รับความศรัทธาและการยกย่องจากผู้บริหาร พนักงาน และผู้ใต้บังคับบัญชาในการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นจำนวนมาก เมื่อคราวได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการเมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2542 ได้รับความไว้วางใจอย่างสูงจากคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งด้วยอาวุโสสูง ด้วยความรู้ความสามารถที่โดดเด่น และด้วยความมีวิสัยทัศน์ยาวไกลทางด้านการพัฒนาสังคมและบุคลากร เนื่องจากได้ประกอบคุณงามความดีที่เป็นประโยชน์ต่องานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และประเทศชาติมาอย่างมากมาย ตลอดระยะเวลาที่ทำงานให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมานานกว่า 34 ปี โดยเฉพาะงานพัฒนาไฟฟ้าชนบทของประเทศ ซึ่งได้เข้าร่วมงานกับ ดร.จุลพงศ์ จุลละเกศ อดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (ผู้เริ่มงานโครงการเร่งรัดพัฒนาไฟฟ้าชนบทสำหรับประเทศไทยตามพระราชปรารภเมื่อปี พ.ศ. 2513) เริ่มตั้งแต่การ ระดมสมอง ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมจัดวางระบบการทำงาน และการบริหารโครงการ ลงมือก่อสร้างการปฏิบัติการจ่ายไฟ การติดตามและประเมินผลการดำเนินการตามโครงการครบถ้วน ตามกระบวนการจัดทำและบริหารโครงการที่เป็นระบบแบบสากลเป็นครั้งแรกของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ครอบคลุมงานทางด้านพัฒนาชนบทและการพัฒนาสังคมพร้อมกันไป

งานพัฒนาไฟฟ้าชนบทในประเทศไทยที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาครับผิดชอบตามภาระหน้าที่ที่ระบุไว้ใน พระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2503 ได้รับการดูแลให้ขยายตัวและก้าวหน้าทันกับความต้องการของประชาชนในระดับที่น่าพอใจ โดยมีอัตราการเจริญเติบโตของจำนวนหมู่บ้านที่ได้รับการจ่าย กระแสไฟฟ้าในแต่ละปีที่สูงมากในช่วงระยะเวลาโครงการระหว่าง พ.ศ. 2518-2538 โดยมีหลักฐานอ้างอิงได้จากสถิติจำนวนหมู่บ้านในชนบทที่มีไฟฟ้าเพียงร้อยละ 9 เมื่อปี 2513 ในขณะนั้นมีหมู่บ้านในเขตรับผิดชอบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจำนวน 45,000 หมู่บ้าน ก่อนเริ่มแผนงานโครงการเร่งรัดพัฒนาไฟฟ้าชนบท (แผนแม่บท) การขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 50 ในอีก 10 ปีต่อมา (พ.ศ. 2523) จากนั้นการขยายการจ่ายไฟเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 93 ใน พ.ศ. 2533 จนถึง เมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2542 หมู่บ้านทั่วประเทศมีไฟฟ้าใช้แล้วถึงร้อยละ 99 ซึ่งคิดเป็นจำนวนหมู่บ้านมากกว่า 67,000 หมู่บ้าน

นายวิบูลย์ คูหิรัญ ทำงานกับสำนักงานไฟฟ้าชนบทอยู่นานถึง 19 ปี โดยได้รับการเลื่อนตำแหน่งมาตามลำดับและได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานโครงการเร่งรัดพัฒนาไฟฟ้าชนบท รวมทั้งได้เป็นผู้อำนวยการโครงการเร่งรัดพัฒนาไฟฟ้าชนบท ระยะที่ 2 (Accelerated Rural Electrification Project-Stage 2) ควบกับตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก (Mini Hydro) ในปี พ.ศ. 2530 ซึ่งเป็นงานจ่ายกระแสไฟฟ้าให้หมู่บ้านชนบทที่อยู่ห่างไกลในป่าเขาและมีแหล่งน้ำตกที่สามารถพัฒนาให้ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ การที่ประเทศไทยมีกระแสไฟฟ้าใช้ทั่วถึงกันแล้วคิดเป็น ร้อยละ 99 ของหมู่บ้านทั้งประเทศ ได้สร้างชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมทั่วโลกว่าประเทศไทยบรรลุผลสำเร็จในการพัฒนาไฟฟ้าชนบทอย่างน่าชื่นชม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งเงินกู้ขนาดใหญ่ที่สำคัญที่ตัดสินใจให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคกู้เงินมาลงทุนในโครงการขยายไฟฟ้าสู่ชนบทเป็นครั้งแรกได้แก่ ธนาคารโลก (IBRD) ได้ยกเอาประเทศไทยเป็นตัวอย่างในการพัฒนาไฟฟ้าชนบทแก่ประเทศอื่น ๆ ทั่วภูมิภาคนี้ หรือแม้แต่ธนาคารพัฒนาแห่งเอเซีย (ADB) เอง ก็ยกย่องประเทศไทยและยกให้เป็นตัวอย่างที่ดีของการพัฒนาไฟฟ้าชนบทให้กับประเทศกำลังพัฒนาในทุกภูมิภาคของโลก และได้ขอให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคช่วยจัดการฝึกอบรมให้เจ้าหน้าที่จากประเทศต่าง ๆ ที่เริ่มโครงการไฟฟ้าชนบทด้วย

ส่วนงานด้านส่งเสริมและพัฒนาความรู้ความสามารถของวิศวกรการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้ริเริ่มให้มีความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยภายในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ การจัดทำโครงการฝึกอบรมวิศวกรในการส่งและจ่ายไฟขั้นสูง (Advanced Power Engineering) ที่สหรัฐอเมริกาและอบรมวิศวกรการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตามโครงการวิศวกรเชี่ยวชาญ เฉพาะเรื่องร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และ Pennsylvania State University (PSU) สหรัฐอเมริกา เพื่อสร้างวิศวกรให้มีความสามารถทางการวิเคราะห์วิจัยและการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบส่งและจ่ายกระแสไฟฟ้ารวมทั้งให้เป็นผู้บรรยายและเขียนตำราเพื่อการพัฒนาวิศวกรการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและภายนอกหน่วยงานต่อไปอีก นอกจากนี้ยังริเริ่มโครงการจัดทำ Transformer Load Management ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อศึกษาการบริหารการใช้งานหม้อแปลงไฟฟ้าในระบบจำหน่ายให้เกิด ประสิทธิภาพสูงสุดและอายุการใช้งานยาวและโครงการติดตั้งระบบ ศูนย์สั่งการจ่ายไฟโดยนำคอมพิวเตอร์และระบบสื่อสารควบคุมจากระยะไกล (SCADA) เพื่อเพิ่มคุณภาพการจ่ายไฟและความรวดเร็วในการแก้ไขกระแสไฟฟ้าขัดข้องโดยเป็นผู้อำนวยการโครงการระยะที่ 1 ตอนเริ่มโครงการ และเป็นผู้ขอความช่วยเหลือทางการเงินแบบให้เปล่าจาก Trade Development Agency (TDA) ของรัฐบาลสหรัฐฯ แล้วนำมาว่าจ้างบริษัท KEMA-ECC เป็นที่ปรึกษาในการจัดทำโครงการและจัดทำรายงานของโครงการ SCADA ระยะที่ 2 ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งได้เป็นผู้ไปลงนามสัญญาเงินให้เปล่าจาก TDA ใช้จ้างบริษัท Southern Electric International (SEI) ศึกษาขั้นตอนการแปรรูปการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (Privatization) หลังสุดได้เจรจาและลงนามสัญญาเงินให้เปล่าจาก TDA จ้างบริษัท KEMA-ECC เพื่อศึกษาจัดทำรายละเอียดในการนำ Optical Fiber มาใช้กับ SCADA Computer Network GIS และสื่อสาร ฯลฯ และลงนามรับเงินให้เปล่าจาก TDA ใช้ทำการศึกษา Computer Network เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543

นายวิบูลย์ คูหิรัญ ยังได้เป็นผู้ก่อตั้ง “ชมรมพัฒนาชนบทการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค” ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2522 โดยรวบรวมความช่วยเหลือทางการเงินจากพนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่ปฏิบัติงานในโครงการเร่งรัดพัฒนาไฟฟ้าชนบท รวมกับความช่วยเหลือที่ได้รับการสนับสนุนจาก สถานทูต สมาคม ชมรม บุคคล บริษัท ห้างร้าน และเพื่อน ๆ จำนวนมาก เพื่อจัดกิจกรรมช่วยเหลือนักเรียนในชนบทให้มีน้ำดื่มสะอาดไว้บริโภค ด้วยการนำไปจัดซื้อวัสดุก่อสร้างมอบให้ชาวบ้าน ครูและนักเรียน ช่วยกันออกแรงงานสร้างถังเก็บ น้ำฝนคอนกรีตเก็บกักน้ำฝน เริ่มกิจกรรมปี พ.ศ. 2522 จนถึงปี พ.ศ. 2545 ได้ช่วยเหลือโรงเรียนทั่วประเทศกว่า 750 แห่ง โดยรวม “โครงการอาหารกลางวัน” ให้โรงเรียนต่าง ๆ ด้วย รวมถึงจัดสิ่งของที่จำเป็นแก่สุขภาพของนักเรียน ได้แก่ อุปกรณ์ ห้องปฐมพยาบาล เครื่องกีฬา เครื่องชั่งน้ำหนัก ไม้วัดส่วนสูง มอบให้ทุกโรงเรียนที่ได้รับถังน้ำฝนและโครงการอาหารกลางวัน ในการดำเนินกิจกรรมทั้งสองนี้มีวัตถุประสงค์ให้พี่น้องในชนบท ได้เรียนรู้และรับทราบเทคนิคในการก่อสร้างถังน้ำคอนกรีต จากการที่ได้ร่วมกันก่อสร้างถังน้ำที่ชมรมฯ จัดหาสิ่งของให้ และได้เชิญผู้ชำนาญการมาคอยให้คำแนะนำด้วยก่อให้เกิด ความสามัคคีในการทำงานร่วมกัน ถังน้ำคอนกรีตนี้เมื่อก่อสร้างเสร็จได้ใช้เก็บน้ำฝนให้เด็กนักเรียนและประชาชนที่อยู่ใกล้โรงเรียนได้ใช้ดื่มในส่วนโครงการอาหารกลางวันทำให้นักเรียนได้เรียนรู้วิธีประกอบอาหารที่ถูกสุขลักษณะจากการ ได้ร่วมกันประกอบอาหารโดยมีครูให้การควบคุมและก่อให้เกิด ความรักใคร่สามัคคีมีระเบียบวินัยของนักเรียนที่จะแบ่งหน้าที่ กันทำงาน และร่วมรับประทานอาหารอันเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของนักเรียนทุกคน

แหล่งที่มา

WikiPedia: วิบูลย์_คูหิรัญ http://www.thaiswatch.com/politician/info/pid/POL0... http://thainews.prd.go.th/website_th/news/news_det... http://www.senate.go.th/w3c/senate/senator.php?url... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/0004027... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2503/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2554/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/E/... https://www.pea.co.th/%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%...