ตำนานเกี่ยวเนื่อง ของ วิมานพญาแถน

พิพิธภัณฑ์พญาคันคาก

ตำนานที่ 1

ตำนานนั้นมีอยู่ว่า พญาคันคากเป็นพระโพธิสัตว์ เสวยชาติเป็นโอรสของกษัตริย์ เหตุที่ได้ชื่อว่า “พญาคันคาก” เป็นเพราะเมื่อครั้งประสูติมีรูปร่างผิวพรรณเหมือนคางคก หรือที่ชาวอีสานเรียกกันว่า คันคาก และถึงแม้พระองค์จะมีรูปร่างอัปลักษณ์ แต่พระอินทร์ก็คอยช่วยเหลือ จนพญาคันคากเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน จนลืมที่จะเซ่นบูชาพระยาแถน พระยาแถนจึงโกรธ ไม่ยอมปล่อยน้ำฝนให้ตกลงมายังโลกมนุษย์ ศึกการต่อสู้ระหว่างพญาคันคากและพญาแถนจึงเกิดขึ้น โดยพญาคันคากได้นำทัพสัตว์ต่างๆ ขึ้นไปรบ จนได้รับชัยชนะ พญาแถนจึงปล่อยให้ฝนตกลงมาเช่นเดิม แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องจุดบั้งไฟขึ้นไปบูชาเป็นประจำทุกปี จึงเป็นที่มาว่าเมื่อถึงเดือนหกอันเป็นต้นเดือนฤดูฝน ชาวอีสานจึงทำบั้งไฟจุดขึ้นบนฟ้าถวายพญาแถน เพื่อฝนจะได้ตกต้องตามฤดูกาลนั่นเอง[2]

ตำนานที่ 2

นางไอ่เป็นธิดาพระยาขอมผู้ครองเมืองชะธีตา นางไอ่เป็นสตรีที่มีสิริโฉมงดงามเป็นที่เลื่องลือไปในนครต่าง ๆ ทั้งโลกมนุษย์และบาดาล มีชายหนุ่มหมายปองจะได้อภิเษกกับนางมากมาย ในจำนวนผู้ที่มาหลงรักนางไอ่ มีท้าวผาแดงและท้าวพังคี โอรสสุทโธนาค เจ้าผู้ครองนครบาดาล ท้าวทั้งสองต่างเคยมีความผูกพันกับนางไอ่มาแต่อดีตชาติ จึงต่างช่วงชิงจะได้เคียงคู่กับนาง แต่ก็พลาดหวัง จึงมิได้อภิเษกทั้งคู่เพราะแข่งขันบั้งไฟแพ้

ท้าวพังคีนาคไม่ยอมลดละ แปลงกายเป็นกระรอกเผือกคอยติดตามนางไอ่ สุดท้ายถูกฆ่าตาย พญานาคผู้เป็นพ่อจึงขึ้นมาถล่มเมืองล่มไป กลายเป็นหนองน้ำใหญ่ คือ หนองหาน หนองหานในตำนานท้าวผาแดงนางไอ่ ที่เป็นที่ถกเถียงกันว่าที่ไหนกันแน่ มีอยู่ถึง 3 ที่ ได้แก่ หนองหาน ที่อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี และหนองหาน อำเภอกุมภวาปี ซึ่งก็ไม่ไกลจากที่แรกมากนัก และอีกที่หนึ่งก็คือหนองหาร จังหวัดสกลนคร

ในตำราอ้างอิงถึงเรื่องผาแดงนางไอ่จบลงด้วยการเกิดเป็นหนองน้ำ ขนาดใหญ่จากการต่อสู้ของพญานาคกับท้าวผาแดง ต่างก็มีข้อมูลอ้างอิงถึง หนองน้ำที่ชื่อหนองหาน แต่กล่าวต่างกันไปในตำราแต่ละเล่มถึงหนองน้ำ ทั้ง 3 แห่ง