ประวัติ ของ วีรพงษ์_รามางกูร

เมื่อวัยเยาว์นั้นกรุงเทพมหานครเกิดสงคราม ดร.วีรพงษ์ รามางกูร จึงได้ย้ายไปอาศัยอยู่กับยายซึ่งมีอาชีพทำนา ที่อำเภอบางบ่อ โดยมีป้าเป็นผู้เลี้ยงดูใกล้ชิด ส่วนบิดาทำงานอยู่ที่โรงพักบางรักแล้วย้ายไปอยู่พญาไท ต่อมาได้ย้ายถิ่นฐานตามบิดาไปอยู่ที่อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม โดยอาศัยอยู่กับเจ้าพระอุปฮาต (เฮือง รามางกูร) ผู้เป็นปู่ที่ธาตุพนมเป็นเวลาถึง 7 ปี ด้วยปัญหาความขัดแย้งของตระกูลเจ้านายธาตุพนมเดิม เป็นเหตุให้เจ้าพระอุปฮาต (เฮือง รามางกูร) ซึ่งแต่เดิมใช้สกุล บุคคละ ตามพี่ชายคนโตคือ เจ้าพระอัคร์บุตร (บุญมี บุคคละ) เจ้าพระอุปฮาตได้ปรึกษากับบุตรชายคนรองคือ นายดวง รามางกูร (ป.ธ., พระราชทานเพลิง) ผู้มีศักดิ์เป็นลุงของวีรพงษ์ รามางกูร ตั้งสกุลรามางกูรขึ้นใหม่ เป็นเหตุให้ทายาทสกุลบุคคละเดิม รวมถึง วีรพงษ์ต้องเปลี่ยนสกุลจากบุคคละมาเป็นรามางกูรตามปู่และบิดาของตน วีรพงษ์ รามางกูร เป็นคนเฉลียวฉลาดมีสติปัญญาดีมาก และมีความขยันขันแข็งพากเพียร ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนจนเป็นอันดับ 1 ในชั้นเรียนมาโดยตลอด จนเป็นที่เล่าลือและชื่นชมในหมู่ญาติและครูอาจารย์ เมื่อวัยเยาว์ได้เข้าศึกษาชั้นประถมศึกษาที่ตัวจังหวัดนครพนม คือโรงเรียนเทศบาล 2 และโรงเรียนสุนทรวิจิตร จนจบประถม 4 ก่อนจะย้ายตามบิดาเข้ากรุงเทพมหานคร อีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2496 ฝ่ายบิดานั้นได้ประจำอยู่ที่สถานีตำรวจนครบาลยานนาวา เข้าศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนศรีอยุธยา เข้าศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย จากนั้นศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แผนกวิทยาศาสตร์ รุ่นเดียวกับสุรศักดิ์ นานานุกูล เมธี ครองแก้ว และศิริบุญ เนาถิ่นสุข จากนั้นจบการศึกษาระดับปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง เป็นคนแรกจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในขณะที่ศึกษาอยู่ก็สอบได้เป็นอันดับ 1 มาตลอดทุกเทอม ต่อมาได้เข้าเป็นอาจารย์ประจำแผนกวิชาการต่างประเทศและการทูต ร่วมมือกับ ศ. บำรุงสุข สีหอำไพ ก่อตั้งแผนกอิสระสื่อสารมวลชน ซึ่งต่อมาคือคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่นานจึงได้รับทุนจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ เข้าศึกษาต่อทางด้านวิชาเศรษฐมิติ (Econometrics) ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ใช้ชีวิตที่ประเทศสหรัฐอเมริกานาน 5 ปีครึ่ง และมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์มอบทุนค่าใช้จ่ายให้มากสุดถึงเดือนละ 300 เหรียญ เป็นเหตุให้หลังจากกลับจากการศึกษาต่อ วีรพงษ์สามารถสร้างบ้านส่วนตัวหลังแรกได้สำเร็จ ต้นปี พ.ศ. 2515 ได้กลับมาเป็นอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วดำรงตำแหน่งเป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ พ.ศ. 2519 อุปสมบทที่วัดบวรนิเวศวิหาร สังกัดธรรมยุติกนิกาย โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังปี พ.ศ. 2526 เข้าทำงานที่สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย จากนั้น พ.ศ. 2533 ได้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐบาลประเทศลาว ในการวางแผนเศรษฐกิจจากระบบสังคมนิยมมาเป็นระบบทุนนิยม ตามนโยบายเปิดประเทศ เป็นเวลาเกือบ 6 เดือน และยกย่องกันว่าทางรัฐบาลลาวได้ไว้วางใจและนับถือ วีรพงษ์ รามางกูร ว่าเป็นบุคคลสำคัญที่มีส่วนในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจประเทศลาวเป็นอย่างมาก อันเนื่องมาจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ได้ให้วีรพงษ์ เข้าไปช่วยเหลือการสร้างแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติและการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับระบบการเงินและเศรษฐกิจของลาว[6]

วีรพงษ์ รามางกูร มีพี่น้องทั้งหมด 6 ท่าน ได้แก่

  1. วีรพงษ์ รามางกูร
  2. นางสาวนพรัตน์ รามางกูร (หนูแดง)
  3. จ.ส.ต. วีรศักดิ์ รามางกูร
  4. นางวิไลลักษณ์ รามางกูร (นีโบน) สมรสกับนายเควิน นีโบน (Kevin Kneebone)
  5. นางศิริพร รามางกูร (ธะเศรษฐ) สมรสกับนายกฤตย์ ธะเศรษฐ
  6. เด็กชายวิโรจน์ รามางกูร (ถึงแก่กรรมเมื่อยังเด็ก)

วีรพงษ์ รามางกูร สมรสมาแล้ว ๒ ครั้ง ๑ ใน ๒ ท่านนั้นคือนางลดาวัลย์ รามางกูร (สกุลเดิม ติรสวัสดิชัย) พี่น้องของนายอภิชาติ ติรสวัสชัย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร อดีตเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ วีรพงษ์ รามางกูร มีบุตรธิดา 3 ท่าน ได้แก่[7]

  1. นางสาววรมน รามางกูร
  2. นายวีรมน รามางกูร
  3. นายวรวงศ์ รามางกูร

ปัจจุบัน วีรพงษ์ รามางกูร พำนักอยู่ที่ จวนขุนราม เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา[8] และยังเป็นเจ้าของที่ดินบางส่วนบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง บ้านหัวบึง ทิศเหนือของวัดหัวเวียงรังษี ที่ได้รับส่วนแบ่งจากบรรพบุรุษในอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ที่ดินอันเป็นมรดกบริเวณนี้ เดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาบริเวณที่ตั้งโฮงที่ประทับของเจ้าเมืองธาตุพนมและเชื้อสายในอดีต นอกจากนี้ วีรพงษ์ รามางกูร ยังเป็นผู้นำบุตรหลานตระกูลรามางกูรในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร เป็นผู้นำการบูรณะปฏิสังขรณ์ วัดหัวเวียงรังสี ซึ่งเป็นวัดประจำตระกูลเจ้าเมืองธาตุพนมมาแต่โบราณ เป็นผู้ร่วมมือกับนายดวง รามางกูร ผู้มีศักดิ์เป็นลุง ทำการรวบรวมสายสกุลของตระกูลเจ้าเมืองธาตุพนม รวมทั้งได้รับการนับถือว่าเป็นผู้มีอาวุโสสูงสุดของตระกูลรามางกูร และที่สำคัญยังเป็นผู้อัญเชิญกฐินพระราชทานไปทอดถวายยังวัดสำคัญ ๆ ของประเทศลาวด้วย

แหล่งที่มา

WikiPedia: วีรพงษ์_รามางกูร http://www.doubleapaper.com http://webcache.googleusercontent.com/search http://info.gotomanager.com/news/details.aspx?id=9... http://breakingnews.nationchannel.com/read.php?new... http://www.ryt9.com/tag http://viratts.wordpress.com/ http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1... http://www.isranews.org/about-us/71-investigate/44... http://vientiane.thaiembassy.org/vientiane/th/coop... http://www.manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx...