ประวัติและบทบาททางการเมือง ของ วีระ_สมความคิด

วีระ สมความคิด จบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จบปริญญาตรีนิติศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช[1]หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเสริมสร้างสังคมสันติสุข สถาบันพระปกเกล้า รุ่นที่ 6 และได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาผู้นำทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ จากมหาวิทยาลัยรังสิต ในปลาย พ.ศ. 2551

มีบทบาททางการเมืองในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา พ.ศ. 2516 ด้วยการเป็นประธานนักเรียน หลังจากนั้นได้เข้าร่วมในเหตุการณ์ 6 ตุลา พ.ศ. 2519 และพฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535

ซึ่งหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา วีระได้ศึกษาธรรมะจากพุทธทาส โดยต่อมาได้อุปสมทบเป็นเวลา 5 ปี ได้ถือปฏิปทาของหลวงปู่ชา สุภัทโท, วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี, นอกจากนี้ยังเป็นลูกศิษย์ของพระอาจารย์กัณหา สุขกาโม วัดแพร่ธรรมาราม จังหวัดแพร่ และเป็นลูกศิษย์ที่เหนียวแน่นของสมณะโพธิรักษ์ แห่งพุทธสถานสันติอโศก[2]

อีกทั้งเป็นสมาชิกกลุ่มรวมพลังซึ่งต่อมาได้กลายเป็นพรรคพลังธรรม และวีระได้เป็นสมาชิกพรรคพลังธรรม ปัจจุบันวีระไม่สังกัดพรรคการเมืองใด วีระเข้าร่วมการชุมนุมขับไล่พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ให้ออกจากตำแหน่ง ใน พ.ศ. 2549 และการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ใน พ.ศ. 2551

เมื่อปี พ.ศ. 2549 วีระได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) กรณีพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กระทำความผิดตามกฎหมาย ปปช. มาตรา 100 ซึ่งต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2551 ให้จำคุกพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร เป็นเวลา 2 ปี[ต้องการอ้างอิง]

ต่อมาในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2552 วีระ สมความคิด, ไทกร พลสุวรรณ, อธิวัฒน์ บุญชาติ และสุนทร รักษ์รงค์ได้นำผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ จำนวน 4,000 คน เดินทางไปเขาพระวิหารเป็นครั้งที่ 2 เพื่ออ่านแถลงการณ์ทวงคืนดินแดน 4.6 ตารางกิโลเมตรรอบปราสาทเขาพระวิหาร จนเกิดการปะทะกับชาวบ้านในพื้นที่ได้รับบาดเจ็บไปทั้ง 2 ฝ่าย [3]

กลาง พ.ศ. 2553 หลังตั้งพรรคการเมืองใหม่แล้ว วีระได้ถอนตัวออกจากกลุ่มพันธมิตรฯ และยุติรายการทั้งหมดทาง ASTV โดยให้เหตุผลว่าไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ นอกจากนี้ยังต้องการทำงานอย่างเป็นอิสระ โดยไม่ถูกครอบงำและแทรกแซง[4]

ในปี พ.ศ. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ออก คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 86/2557 ให้เขาเข้ามารายงานตัวในวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 พร้อม พลเอก บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์

วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2560 นายวีระ สมความคิด รายงานตัวกับตำรวจ ปอท.ตามหมายจับศาลอาญา รัชดาภิเษก ที่ จ.642 /2560 ข้อหากระทำผิดตามพรบ.คอมพิวเตอร์ ต่อมาในวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 เขาเข้าพบพนักงานสอบสวน เนื่องจาก พลตำรวจเอก ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ฟ้องร้องเขาใน 3 ข้อหา [5]ตำรวจออกหมายเรียกให้รับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. และยุยงปลุกปั่นในวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2561

ในวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2561 ตำรวจได้ออกหมายเรียกและแจ้งข้อกล่าวหาเขาในความผิดขัดคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558 และอีกหลายข้อหา เนื่องจากชุมนุมทางการเมืองเมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2561[6]

เหตุถูกทหารกัมพูชาจับกุม

ดูเพิ่มเติมที่: ความขัดแย้งไทย-กัมพูชา

วีระ สมความคิด ได้เดินทางไปร่วมงานที่ชุมชน "บ้านสันปันน้ำ" ชายแดนพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งก่อตั้งโดยอธิวัฒน์ บุญชาติ เป็นเวทีสุดท้ายการถ่ายทอดสด ทาง FM.TV. ของเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ เป็นการออกรายการทางสื่อครั้งสุดท้ายก่อนจะถูกจับกุมตัวเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2553 พร้อมกับพวกจำนวน 7 คน ซึ่งเป็นสมาชิกของเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ ที่แยกออกจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และบางส่วนเป็นญาติธรรมของพุทธสถานสันติอโศก พร้อมกับพนิช วิกิตเศรษฐ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ ขณะลงพื้นที่ตรวจสอบที่ได้รับเรื่องร้องเรียนว่าทหารกัมพูชารุกล้ำเข้ามาในเขตไทย บริเวณอำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว[7] โดยศาลเขตพนมเปญได้ตั้งข้อหาวีระและพวกในข้อหาเดินทางข้ามพรมแดนโดยผิดกฎหมาย และรุกล้ำเขตทหาร ส่วนวีระและราตรีได้ถูกเพิ่มข้อหาจารกรรมข้อมูลเนื่องจากครอบครองอุปกรณ์กล้องบันทึกภาพและใช้อุปกรณ์ระหว่างการถูกจับกุม ด้านกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางเข้าพบฮอร์ นำฮง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา เพื่อเจรจาในประเด็นดังกล่าว[8]

ต่อมา ศาลกัมพูชาให้ประกันตัวผู้ถูกจับกุม 5 คน ยกเว้นวีระกับราตรี โดยให้เหตุผลเรื่องความผิดต่อความมั่นคงของประเทศกัมพูชา[9] ในการไต่สวนโดยศาลชั้นต้น กรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 วีระได้ปฏิเสธข้อกล่าวหา และยืนยันว่าขณะถูกจับกุมตนยังอยู่ในอาณาเขตประเทศไทย ศาลกัมพูชามีคำตัดสินในวันเดียวกันให้จำคุกวีระและราตรี ในข้อหาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย บุกรุกเขตทหาร และจารกรรมข้อมูล เป็นเวลา 8 ปี และ 6 ปี ตามลำดับ โดยไม่รอลงอาญา และให้ยื่นอุทธรณ์ได้ภายในหนึ่งเดือน ซึ่งวีระไม่ได้ยื่นอุทธรณ์[ต้องการอ้างอิง] ในวาระพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพอดีตพระมหากษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ รัฐบาลกัมพูชาได้ขอพระราชทานอภัยโทษและปล่อยตัวราตรีเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556 และลดโทษวีระลง 6 เดือน เป็นจำคุก 7 ปี 6 เดือน

วันที่ 1 กรกฎาคม 2557 วีระได้รับการพระราชทานอภัยโทษหลังจากสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนกัมพูชา และได้ยื่นข้อเสนอของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ต่อรัฐบาลกัมพูชา[10]

ใกล้เคียง

วีระกานต์ มุสิกพงศ์ วีระยุทธ ดิษยะศริน วีระพงษ์ วงศ์ศิลป์ วีระชัย วีระเมธีกุล วีระ ธีรภัทร วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ วีระชัย หัตถโกวิท วีระพล นครหลวงโปรโมชั่น วีระศักดิ์ ฟูตระกูล วีระเดช โค๊ธนี

แหล่งที่มา

WikiPedia: วีระ_สมความคิด http://www.bangkokbiznews.com/2007/06/24/WW65_WW65... http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/757223 http://www.krobkruakao.com/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B... http://www.posttoday.com/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%... http://www.mcot.net/cfcustom/cache_page/149840.htm... http://www.oknation.net/blog/FogSea/2009/09/20/ent... http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1... http://www.thairath.co.th/content/433471 http://www.thaipbs.or.th/TVThai/ https://prachatai.com/journal/2018/06/77299