ศิวนาฏราชในศิลปะอินเดีย ของ ศิวนาฏราช

นาฏราช หรือพระศิวะในฐานะของบรมครูองค์แรกแห่งการร่ายรำ พระหัตถ์ขวาด้านบน ทรงถือกลองรูปร่างคล้ายๆ นาฬิกาทราย (เอวคอด) กลองเล็ก ๆ ใบนี้ให้จังหวะประกอบการฟ้อนรำของพระศิวะ และที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ เสียงกลองเป็นสัญลักษณ์แทนธาตุแรกที่ถือกำเนิดขึ้นในจักรวาล นั่นคือ กลองเป็นสัญลักษณ์แห่งการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ทั้งมวล

พระหัตถ์ซ้ายด้านบน ถืออัคนี อันเป็นสัญลักษณ์แห่งการทำลายล้าง โดยคำว่า ทำลายล้าง ในที่นี้ หมายถึง ล้างความชั่ว ล้างอวิชชา ให้หมดไป เพื่อเปิดทางการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ขึ้นมาใหม่ พระกรและพระหัตถ์คู่ซ้าย-ขวา ซึ่งแทนการสร้างสรรค์และการทำลายล้างนี้ กางออกไปในระดับเสมอกัน อันบ่งบอกถึงความหมายที่ว่า "มีเกิด ก็ย่อมมีดับ" นั่นเอง

พระหัตถ์ขวาด้านล่างแบออก เรียกว่า ปางอภัย (abhaya pose) ซึ่งมีความหมายว่า "จงอย่าได้กลัวเลย" (do not fear) เพราะไม่มีภัยใด ๆ จะมากล้ำกลาย ท่านี้บ่งว่าพระศิวะเป็นผู้ปกป้องอีกด้วย

ส่วนพระกรซ้ายด้านล่างพาดขวางลำตัวระดับอก ในลักษณะคล้ายๆ งวงช้าง ซึ่งบางคนตีความว่า เป็นงวงของพระคเณศ เทพเจ้าแห่งความสำเร็จ และเป็นบุตรของพระศิวะอีกต่างหาก ปลายนิ้วของพระกรที่เป็นงวงช้างนี้ชี้ไปที่พระบาทซ้ายที่ยกขึ้น มาจากพื้น ก็ตีความกันว่า พระบาทที่ยกขึ้นมานี้บ่งถึงการหลุดพ้นจากวัฏสงสาร

ส่วนพระบาทขวานั้นเหยียบอยู่บนอสูรมูลาคนี ซึ่งเป็นตัวแทนของอวิชชา เมื่ออวิชชาถูก 'เหยียบ' ไม่ให้โผล่ขึ้นมาบดบังความจริง ความรู้แจ้ง (วิชชา) ก็จะปรากฏขึ้นนั่นเอง

วงกลม ๆ ที่ล้อมพระศิวะอยู่ก็คือ ขอบเขตแห่งการร่ายรำ อันเป็นตัวแทนของจักรวาลทั้งมวล โดยมีขอบด้านนอกเป็นเปลวไฟ และมีขอบด้านในเป็นน้ำในมหาสมุทรพระศิวะในปางนาฏราชนี้ยังแสดงคู่ตรงกันข้ามกันเช่น กลอง = สร้าง vs ไฟ = ทำลาย แม้พระศิวะจะร่ายรำ ขยับมือ ขยับเท้าและแขนขาอย่างต่อเนื่อง แต่พระพักตร์กลับสงบนิ่งเฉย เหมือนไร้ความรู้สึก ซึ่งเป็นเสมือนการสอนว่า การเกิด-ดับของสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่โดยตลอด พระเกศาของพระศิวะยาวสยาย ปลิวสะบัดยื่นออกไปทั้งซ้ายขวา เป็นสัญลักษณ์แทนผู้ละทิ้งชีวิตทางโลก แต่ก็มีพระคงคาและพระจันทร์เสี้ยวอนเป็นสัญญลักษณ์แห่งเทพสตรีประดับอยู่ด้วย