การเข้ามาเป็นพุทธศาสนิกชน ของ สกุลบุนนาค

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยามีความตอนหนึ่งว่า

ณ เดือนแปดแรมสิบค่ำ พระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรหนัก จนสะอึกสามชั้น ต่อกลางคืนตีสิบเอ็ดจึงคลาย ครั้นเดือนสิบสองขึ้น เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปสมโพธน์พระพุทธบาท เป็นกระบวนรับเสด็จพัก ณ พระตำหนักท่าเจ้าสนุก แล้วทรงพระวอขึ้นไปประทับร้อนบ่อโศก เพลาเย็นเสด็จไปถึงท้ายพิกุล ครั้นสมโพธน์พระพุทธบาทครบเจ็ดวันแล้ว เสด็จพระราชดำเนินกลับยังกรุงเทพพระนครศรีอยุธยา

ในการเสด็จพระราชดำเนินนมัสการพระพุทธบาทครั้งนั้น ข้าทูลละอองธุลีพระบาททุกคนคงยินดีที่พระเจ้าอยู่หัวหายประชวร ต่างคนก็ต่างอยากตามเสด็จ แต่พระยาเพ็ชร์พิไชย (ใจ) ไม่มีชื่ออยู่ในจำนวนที่โปรดให้ตามเสด็จในกระบวน พระยาเพ็ชร์พิไชยจึงกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานตามเสด็จด้วย พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่าพระยาเพ็ชร์พิไชยเป็นแขก ไม่ควรไปนมัสการพระพุทธบาท แต่ถ้าทิ้งเพศแขกมาเข้ารีดไทย จึงจะให้ตามเสด็จ พระยาเพ็ชร์พิไชยกราบบังคมทูลว่า เต็มใจที่จะเป็นไทยตามพระบรมราชประสงค์ จึงทรงพระกรุณาพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระยาเพ็ชร์พิไชยตามเสด็จไปด้วย ครั้นเสด็จถึงพระพุทธบาทแล้ว พระยาเพ็ชร์พิไชยได้รับศีล ปฏิญาณ เป็นพุทธศาสนิกชนต่อสมเด็จพระสังฆราช หน้าที่นั่งสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน นี่เป็นต้นเหตุให้วงศ์เฉกอะหมัดละศาสนาเดิมมาถือพุทธศาสนา และเมื่อเสด็จกลับพระนครแล้ว พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์พระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) ขึ้นเป็นเจ้าพระยาเพ็ชรพิไชย และให้ว่าราชการที่สมุหนายกด้วย

ท่านแก้ว ธิดาเจ้าพระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) ได้แต่งงานกับเจ้าพระยามหาเสนาที่สมุหพระกลาโหม ซึ่งมีบ้านอยู่ที่คลองแกลบ ราษฎรเลยเรียกท่านว่า เจ้าพระยากลาโหม คลองแกลบ เจ้าพระยามหาเสนากับท่านผู้หญิงแก้วมีธิดาคนเดียวชื่อ แจ่ม และมีบุตรชายกับภรรยาอื่นสองคน ชื่อ ปลี และคุ้ม

ท่านเชน บุตรคนที่สองของเจ้าพระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) ได้เป็นพระยาวิชิตณรงค์ เจ้ากรมเขนทองซ้ายและว่ากรมอาสาจามด้วย

ส่วนท่านเสน บุตรคนที่สามของเจ้าพระยาเพ็ชรพิไชยเข้ารับราชการในเจ้าฟ้านราธิเบศร์ (เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์) กรมขุนเสนาพิทักษ์มหาอุปราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ได้โปรดเกล้าฯ ให้ท่านเสน เป็นพระยาเสน่หาภูธร จางวางมหาดเล็กในวังหน้า ต่อมาเมื่อเจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ถูกลงพระราชอาญาจนสิ้นพระชนม์แล้ว พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิจเป็นพระมหาอุปราชแทน และได้ทรงเลื่อนบรรดาศักดิ์พระยาเสน่หาภูธร (เสน) ขึ้นเป็นพระยาจ่าแสนยากร จางวางกรมมหาดไทยในกรมพระราชวังบวรฯ

พระยาจ่าแสนยากร (เสน) วงศ์เฉกอะหมัดชั้นที่ ๕ ได้ท่านพวงแก้ว ธิดาเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (ขุนทอง) มาเป็นภรรยา มีบุตรธิดา ๔ คน เป็นหญิง ๓ คน ชื่อ เป้า แป้น และ ทองดี คนที่สี่เป็นชายชื่อ บุญมา และมีบุตรกับท่านบุญศรี ภรรยาซึ่งกรมพระราชวังบวรฯ พระองค์ก่อนประทานคนหนึ่งเป็นชายชื่อ บุนนาค

กรมขุนพรพินิจมหาอุปราชโปรดเกล้าฯ ให้นาย บุญมาเป็นหลวงมหาใจภักดิ์ นายเวรมหาดเล็กวังหน้า และให้นายบุนนาคเป็นนายฉลองไนยนาถ มหาดเล็กหุ้มแพรวังหน้า

เมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสวรรคตในปี พ.ศ. ๒๓๐๑ กรมขุนพรพินิจได้ครองราชย์ต่อมาทรงพระนามว่า พระเจ้าอุทุมพร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระยาจ่าแสนยากร (เสน) ข้าหลวงเดิมขึ้นเป็นเจ้าพระยามหาเสนาที่สมุหพระกลาโหมอัครมหาเสนาบดีปักษ์ใต้ เพราะเหตุที่ท่านตั้งบ้านเรือนอยู่ริมวัดสามวิหาร ราษฎรจึงเรียกท่านว่า "เจ้าคุณกลาโหมวัดสามวิหาร"

ต่อมา พระเจ้าอุทุมพรทรงสละราชสมบัติ ถวายเจ้าฟ้าเอกทัต กรมขุนอนุรักษ์มนตรีพระเชษฐาเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๐๒ หลังจากนั้นพระองค์ได้เสด็จออกผนวช ราษฎรจึงถวายพระนามว่า "ขุนหลวงหาวัด" ส่วนเจ้าฟ้าเอกทัต กรมขุนอนุรักษ์มนตรี เมื่อขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามสมเด็จพระมหากษัตริย์บวรสุจริต ทศพิธธรรม ธเรศเชฐโลกา นายกอุดมบรมนารถบพิตร แต่ราษฎรนิยมเรียกพระนามสั้นๆ ว่า "พระเจ้าเอกทัต"

ในรัชกาลนี้ พระยาวิชิตณรงค์ (เชน) ซึ่งเป็นบุตรคนที่สองของเจ้าพระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) และเป็นพี่ชายของเจ้าพระยามหาเสนา (เสน) ได้เป็นพระยาจุฬาราชมนตรี โปรดเกล้าฯ ให้ว่าทั้งกรมท่ากลางและกรมอาสาจาม พระราชทานเกียรติยศเสมอเจ้าพระยาพระคลัง แต่ไม่ได้ตั้งเป็นเจ้าพระยา ส่วนท่านหนูบุตรคนที่สี่ของเจ้าพระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) ได้เป็นจมื่นไวยวรนารถ หัวหมื่นมหาดเล็กได้สมรสกับละม่อม ธิดาเจ้าพระยาจักรีโรงฆ้อง ตั้งบ้านเรือนอยู่ตำบลบางกะจะ ใกล้วัดพนัญเชิง มีบุตรธิดาด้วยกันหลายคน

ต่อมาเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าเป็นครั้งที่สอง เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๐ ผู้สืบเชื้อสายวงศ์เฉกอะหมัดต่างก็พลัดพรากกระจัดกระจายจากกันไปเช่นเดียวกับวงศ์อื่นๆ บ้างก็เสียชีวิต บ้างก็ถูกจับเป็นเชลยตกไปอยู่ในเมืองพม่า บ้างก็พยายามหนีซ่อนเร้นให้พ้นจากเงื้อมมือข้าศึกทุกวิถีทาง

เชื้อสายวงศ์เฉกอะหมัดในชั้นที่ ๖ นี้ แบ่งออกเป็นหลายสาย แต่ละสายล้วนถือกำเนิดมาจากเจ้าพระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) ทั้งสิ้น บทความต่อไปจะกล่าวเฉพาะเชื้อสายที่สืบมาถึงท่านบุนนาค ซึ่งเป็นต้นตระกูลของสกุลบุนนาคกับพี่น้องบางคนเท่านั้น

หลวงมหาใจภักดิ์ (บุญมา) บุตรคนที่สี่ของเจ้าพระยามหาเสนา (เสน) ซึ่งเป็นบุตรคนที่สามของ เจ้าพระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) นั้น พลัดกับครอบครัวตอนกรุงแตก หนีไปอาศัยอยู่ที่เมืองเพชรบูรณ์ ส่วนพี่สาวทั้งสามของหลวงมหาใจภักดิ์ คือ เป้า แป้น และทองดี ตลอดทั้งภรรยาและบุตรของหลวงมหาใจภักดิ์เองถูกกวาดต้อนไปอยู่เมืองพม่า ครั้นถึงรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี หลวงมหาใจภักดิ์ (บุญมา) เข้ามาถวายตัวเข้ารับราชการในพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระพลเมืองเพชรบูรณ์ พระพลเมืองเพชรบูรณ์ได้โอกาสจึงกราบทูลขอถวายตัวนายก้อนแก้วพี่ชาย ซึ่งเป็นบุตรของพระยาจุฬาราชมนตรี (เชน) ผู้เป็นลุง ให้เข้ารับราชการ จึงโปรดเกล้าฯตั้งนายก้อนแก้วเป็นหลวงศรีนวรัตน์

ส่วนนายฉลองไนยนารถ (บุนนาค) บุตรคนที่ห้าของเจ้าพระยามหาเสนา (เสน) ได้แต่งงานกับท่านลิ้ม ธิดาพระยาธิเบศร์บดีจางวางมหาดเล็ก มีธิดาคนหนึ่งชื่อ ตานี เมื่อกรุงเก่าจวนจะเสียแก่พม่า นายฉลองไนยนารถได้พาภรรยา ธิดา และนายก้อนแก้ว ซึ่งเป็นบุตรของลุง ออกไปอยู่กับหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี (คือ นายทองด้วง ซึ่งต่อมาปราบดาภิเษกเป็นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี)

ในสมัยกรุงธนบุรี เพื่อนและญาติหลายคนของนายฉลองไนยนารถ (บุนนาค) ได้ถวายตัวรับราชการในพระเจ้ากรุงธนบุรี รวมทั้งหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี (ทองด้วง) ซึ่งพระมหามนตรี (บุญมา) ผู้น้องชวนมารับราชการในพระเจ้ากรุงธนบุรีด้วย ส่วนนายฉลองไนยนารถ (บุนนาค) ไม่ยอมเข้ารับราชการ ทั้งยังขอมิให้ญาติและเพื่อนฝูงกล่าวชื่อตนให้เข้าพระกรรณพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นอันขาด เนื่องจากมีเรื่องหมางใจกันมาแต่เยาว์

มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่า ในแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ มีเด็กชายสามคน คนหนึ่งชื่อ สิน บุตรจีนแต้ไหฮอง ซึ่งเจ้าพระยาจักรีในเวลานั้นขอมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม คนหนึ่งชื่อ ทองด้วง บุตรหลวงพินิจอักษร (ทองดี) เสมียนตรากรมมหาดไทย คนหนึ่งชื่อ บุนนาค บุตรพระยาจ่าแสนยากร (เสน) สามคนนี้เป็นเพื่อนเล่นรักใคร่กันมาก เมื่ออุปสมบทเป็นสามเณรก็อยู่วัดสามวิหารด้วยกัน ครั้งหนึ่งสามเณรบุนนาค ได้รับนิมนต์ให้เทศน์กัณฑ์มัทรีในศาลาการเปรียญ ขณะที่กำลังเทศน์อยู่ สามเณรสินแอบเข้าไปถอดบันไดออกจากธรรมาสน์ พอสามเณร บุนนาค เทศน์จบห่อคัมภีร์แล้วไม่ทันดูว่าธรรมาสน์มีบันไดหรือไม่ เมื่อก้าวลงมาจึงพลัดตกลง สามเณรบุนนาคได้รับทั้งความเจ็บความอาย

เมื่อสึกจากสามเณรแล้ว เจ้าพระยาจักรีได้นำนายสินเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ส่วนนายทองด้วงกับนายบุนนาคนั้นบิดานำขึ้นถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระราชวังบวร แม้รับราชการแยกแห่งกัน ทั้งสามคนนี้ก็ยังพบปะเที่ยวเล่นด้วยกันเสมอ วันหนึ่งในขณะที่ทั้งสามคนนอนคุยกันที่หน้าบ้านเจ้าพระยาจักรี นายสินเคลิ้มหลับไป นายสินเวลานั้นยังไว้ผมเปีย นายบุนนาคเห็นได้ทีก็ค่อยๆ เอาผมเปียนายสินผูกเข้ากับฟากเรือนที่นอนกันอยู่โดยมิให้นายสินรู้สึกตัว ผูกแน่นดีแล้วก็ทำเสียงดังเอะอะขึ้น นายสินตื่นขึ้นด้วยความตกใจ รีบลุกขึ้นกระชากผมเปียตนเองโดยแรง คนที่ได้เห็นก็พากันหัวเราะ เป็นเหตุให้ทั้งสองคนมีความหมางเมินกันตั้งแต่นั้นมา ต่อมาเมื่อนายสินได้ขึ้นเป็นพระเจ้ากรุงธนบุรี และนายทองด้วงเป็นเจ้าพระยาจักรี นายบุนนาคจึงไม่กล้าถวายตัวรับราชการในพระเจ้ากรุงธนบุรีเนื่องด้วยเรื่องผิดใจกันดังกล่าว

เมื่อหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี (ทองด้วง) เข้ามารับราชการในพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นพระราชวรินทร์ และขึ้นเป็นเจ้าพระยาจักรีต่อมา นายบุญมาน้องชาย โปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าพระยาสุรสีห์ ส่วนนายฉลองไนยนารถ (บุนนาค) ยังคงอยู่กับเจ้าพระยาจักรีตลอดมา โดยเป็นทนายคอยถือพานทองล่วมหมากตามหลังเจ้าพระยาจักรีไม่ว่าจะไปไหน แต่ต่อมานายฉลองไนยนารถเกรงพระเจ้ากรุงธนบุรี จะทอดพระเนตรเห็น และจะทราบเรื่องของตน จึงไม่ตามเจ้าพระยาจักรีเข้าไปในพระราชวังอีก เพียงแต่รับใช้กิจการอยู่ภายนอกเท่านั้น

ต่อมานายฉลองไนยนารถ ชวนท่านลิ้มผู้เป็นภรรยาไปขุดทรัพย์ที่บิดาฝังไว้ ณ กรุงเก่า เมื่อตอนกรุง ศรีอยุธยาจะเสียแก่พม่าเพื่อไม่ให้ตกเป็นของข้าศึก หลังจากขุดสมบัติได้แล้วจึงเดินทางกลับ ล่องเรือเข้ามาทางแม่น้ำอ้อมเมืองนนทบุรี มาถึงปากคลองบางใหญ่ถูกผู้ร้ายปล้นสมบัติ ภรรยาและข้าทาสอีกสองคนถูกฆ่าตาย นายฉลองไนยนารถกับทาสอีกหนึ่งคนต้องกระโดดน้ำหนีไปโดยไม่ได้ทรัพย์สินเลย

เมื่อท่านผู้หญิงนาก ภรรยาของเจ้าพระยาจักรีทราบถึงเหตุร้ายดังกล่าว เกิดความสงสารนายฉลองไนยนารถ จึงยกท่านนวล น้องสาวให้เป็นภรรยาโดยเป็นผู้ประกอบพิธีสมรสให้ ดังนั้นนายฉลองไนยนารถ (บุนนาค) จึงมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องในฐานะเป็นน้องเขยของเจ้าพระยาจักรีกับท่านผู้หญิงนากด้วย นอกเหนือจากเป็นเพื่อนและเป็นผู้คอยรับใช้ช่วยเหลือแล้ว

ครั้นถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ปีพุทธศักราช ๒๓๒๕ หลังจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ทรงปราบดาภิเษกแล้วได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งเคยทำความดีความชอบให้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ อาทิ เช่น เจ้าพระยาสุรสีห์ได้รับสถาปนาเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เป็นต้น ทั้งยังทรงตั้งตำแหน่งเสนาบดีข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยหลายกรม กอง สำหรับผู้สืบสายเฉกอะหมัดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งครั้งนั้นมี ๕ ท่าน คือ

ท่านแจ่ม ธิดาท่านผู้หญิงแก้วมหาเสนา กับเจ้าพระยากลาโหมคลองแกลบ ซึ่งเป็นพี่ต่างมารดาของเจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) เป็นท้าววรจันทร์

หลวงศรีนวรัตน์ (ก้อนแก้ว) บุตรพระยาจุฬาราชมนตรี (เชน) เป็นพระยาจุฬาราชมนตรีแทนบิดา พระพลเมืองเพชรบูรณ์ (บุญมา) บุตรเจ้าพระยามหาเสนา (เสน) เป็นพระยาตะเกิง (ได้เป็นเจ้าพระยามหาเสนาในสมัยรัชกาลที่ ๒) นายฉลองไนยนารถ (บุนนาค) บุตรเจ้าพระยามหาเสนา (เสน) น้องต่างมารดาของท่านบุญมา ได้เป็นพระยาอุไทยธรรม (ตอนปลายรัชกาลที่ ๑ ได้เป็นเจ้าพระยาอรรคมหาเสนาที่สมุหพระกลาโหม) ท่านน้อย บุตรจมื่นไวยวรนารถ (หนู) หลานเจ้าพระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) เป็นหลวงนายสิทธิ์มหาดเล็ก

ผู้สืบเชื้อสายในวงศ์เฉกอะหมัดในชั้นที่หกนี้มี ๘ ท่าน อยู่ในกรุงสยาม ๕ ท่านดังกล่าวแล้ว ส่วนอีก ๓ ท่านได้แก่ ท่านเป้า ท่านแป้น และท่านทองดี ธิดาเจ้าพระยามหาเสนา (เสน) พี่สาวต่างมารดาของท่านบุนนาคนั้นเป็นเชลยตกไปอยู่เมืองพม่า และไม่มีใครทราบเรื่องราวของท่านทั้งสามเลย

วงศ์เฉกอะหมัดอันรวมเป็นวงศ์เดียวกันมา ๕ ชั่วคนนั้น ตั้งแต่ชั้นที่หกนี้ไปแยกออกไป ๕ สาย และเมื่อครั้งตั้งนามสกุลคนไทยในแผ่นดินสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ สายหนึ่งๆ ยังแยกออกเป็นหลายสกุล

หนังสือเล่มนี้จะกล่าวถึงประวัติผู้สืบสายสกุลโดยตรงจากเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) กับท่านเจ้าคุณพระราชพันธุ์ (นวล) ซึ่งมีบิดาใช้นามสกุลว่า "บุนนาค" และเป็นผู้ที่มีเกียรติประวัติ ผลงานรับใช้ประเทศชาติและราชบัลลังก์ ด้วยความจงรักภักดีตลอดมา