ประวัติ ของ สถานีรถไฟด่านพรมแดนบ้านคลองลึก

ประวัติเต็มไปที่ ทางรถไฟสายอรัญประเทศ–ปอยเปต[2]

ยุคแรก(ย่อ)

ในปี พ.ศ. 2448 กรมรถไฟหลวงได้มีการจัดซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างเส้นทางรถไฟจากมณฑลกรุงเทพสู่มณฑลปราจิณบุรี กระทั่งในปี พ.ศ. 2462 มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างรถไฟหลวงจากจังหวัดฉะเชิงเทราถึงอารัญประเทศ จังหวัดกระบินทร์บุรี และสามารถเปิดการเดินรถจากสถานีรถไฟกระบินทร์บุรีถึงสถานีรถไฟอรัญประเทศเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469

ในช่วงปี พ.ศ. 2484–2489 ไทยได้ดินแดนเขมรเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ส่งผลให้ไทยได้เมืองพระตะบอง, ศรีโสภณ, มงคลบุรี และเสียมราฐ (ยกเว้นนครวัดและนครธม) กลับมาอีกครั้ง และได้ทำการเชื่อมเส้นทางรถไฟระหว่างสถานีรถไฟอรัญประเทศกับสถานีรถไฟมงคลบุรีโดยมีทหารญี่ปุ่นบุกเบิกเส้นทางให้ เรียกว่าทางรถไฟสายอรัญญประเทศ–มงคลบุรี เส้นทางรถไฟสายนี้จะสิ้นสุดบริเวณแม่น้ำสังแกตามข้อตกลงไทย-ฝรั่งเศสในขณะนั้น รวมระยะทางตั้งแต่สถานีอรัญประเทศถึงปลายทางเป็นระยะทาง 117 กิโลเมตร[7] แต่หลังจักรวรรดิญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามในปี พ.ศ. 2489 รัฐบาลไทยจึงต้องคืนดินแดน รวมทั้งเส้นทางรถไฟที่เคยสร้างไว้ด้วย

หลังกัมพูชาได้รับเอกราชเมื่อปี พ.ศ. 2493 กรมรถไฟของไทยได้เจรจากับคณะผู้แทนรถไฟกรุงกัมพูชาเรื่องการเชื่อมทางรถไฟกัมพูชากับรถไฟไทยเมื่อปี พ.ศ. 2496 และเปิดเดินรถไฟระหว่างประเทศครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2498 ขบวนรถอรัญประเทศ–ปอยเปต–พระตะบอง โดยช่วงแรกได้ใช้รถดีเซลรางของกัมพูชาเดินรถทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ ช่วงเวลาเช้า-เย็น ภายหลังได้เพิ่มรถจักรไอน้ำของไทย อันประกอบไปด้วยรถชั้นสองและสาม มีพ่วงตู้สินค้า เดินรถทุกเช้าวันอังคารและเสาร์[8]

หลังเดินรถได้ 4 ปี กัมพูชาประกาศตัดความสัมพันธ์กับไทย และยุติการเดินรถเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2501 ต่อมาได้เปิดพรมแดนชั่วคราวเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 จึงเดินรถตามตารางเดิมที่เคยใช้เมื่อวันที่ 6 มีนาคมปีเดียวกัน

ต่อมากัมพูชาตัดความสัมพันธ์กับไทยอีกครั้งเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2504 จึงงดการเดินรถข้ามประเทศ ต่อมาการรถไฟแห่งประเทศไทยเริ่มเดินรถข้ามประเทศอีกครั้งเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 แต่ลดจำนวนเที่ยวเพียงวันอังคารและพฤหัสบดี

ในช่วงเหตุการณ์พนมเปญแตก การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงยุติการเดินรถข้ามพรมแดนเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2517 หลังยุติการเดินรถทางฝั่งกัมพูชาได้มีการรื้อถอนรางออกไป โดยมากรางจะถูกงัดไปขาย และย่านสถานีรวมทั้งเส้นทางรถไฟในปอยเปตได้แปรสภาพเป็นบ่อนกาสิโน โรงแรม และร้านค้า[8] คงเหลือเพียงสะพานข้ามคลองพรหมโหดที่ติดกับพรมแดนไทยเท่านั้น[8] ส่วนเส้นทางรถไฟฝั่งไทยก็ถูกกลบหายไปจากการสร้างตลาดโรงเกลือ[8]

การบูรณะ

ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชียให้กัมพูชากู้ยืมเงินสำหรับบูรณะเส้นทางรถไฟช่วงศรีโสภณปอยเปตเป็นระยะทาง 48 กิโลเมตรเพื่อเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟกับประเทศไทยที่อรัญประเทศ การรถไฟแห่งประเทศไทยเคยเสนอของงบประมาณในปี พ.ศ. 2555 แต่ถูกตัดงบประมาณ ต่อมาชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยมีการปรับปรุงรางและอื่น ๆ ในเส้นทางชุมทางคลองสิบเก้าอรัญประเทศ และอรัญประเทศ–คลองลึก รวมถึงสะพานข้ามคลองพรหมโหดในวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2556 เพราะเบื้องต้นเส้นทางดังกล่าวมีปัญหาคือเส้นทางเดิมขาด และมีน้ำท่วมขัง ใช้งบประมาณ 2,808 ล้านบาท โดยบริษัทอิตาเลียนไทยชนะประมูลการก่อสร้าง พ.ศ. 2557 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาได้เยือนประเทศกัมพูชา พร้อมทั้งเจรจากับฮุน เซนเกี่ยวกับโครงการระบบรางและร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ

พ.ศ. 2559 รัฐบาลกัมพูชาเวนคืนที่ดินซึ่งเป็นกาสิโนจำนวนสามแห่งรวมทั้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองออกเพื่อสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างอรัญประเทศ–ปอยเปต ทว่ามีตึกกาสิโนและโรงแรมกีดขวางทางรถไฟ กัมพูชาจึงแก้ปัญหาด้วยการสร้างทางรถไฟผ่านใต้ตึก โดยฝังรางรถไฟไว้ใต้คอนกรีต ทางรถไฟจะผ่านตึกทะลุไปถึงสถานีรถไฟปอยเปตที่ถูกบูรณะใหม่[9]

บริเวณที่หยุดรถไทยเดิม ก่อนก่อสร้างสถานีด่านพรมแดนบ้านคลองลึก [9]

วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2558 การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ทำการรื้อถอนสะพานข้ามคลองพรหมโหดเดิมที่มีอายุ 120 ปี เพื่อสร้างใหม่ เพื่อเชื่อมเส้นทางไปยังพรมแดนกัมพูชา โดยทางรัฐบาลไทยได้ก่อสร้างเส้นทางรถไฟจากอรัญประเทศจนถึงสะพานข้ามคลองพรหมโหดแล้วเสร็จตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2561 และกำลังก่อสร้างสถานีรถไฟใหม่บริเวณบ้านดงงู อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ในปีเดียวกัน การรถไฟแห่งประเทศไทยวางแผนจะมอบรถดีเซลรางฮิตาชิรีโนเวตจำนวน 4 คันแก่กิจการรถไฟกัมพูชา พร้อมกับอบรมพนักงานขับรถของกัมพูชา เป็นของขวัญแก่กัมพูชา เบื้องต้นจะมีการเดินรถระหว่างประเทศโดยมุ่งเน้นขนส่งประชาชนเป็นหลัก

28 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ทางการไทยสร้างสถานีรถไฟด่านพรมแดนบ้านคลองลึกใกล้ตลาดโรงเกลือใกล้แล้วเสร็จ ทั้งนี้ก็เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนโดยไม่ต้องเดินทางไปขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟอรัญประเทศ คาดว่าจะมีการเดินรถสปรินเตอร์ในต้นปี พ.ศ. 2562 ส่วนการเดินรถระหว่างประเทศนั้น ยังติดขัดปัญหาบางประการของทางการกัมพูชา จึงยังไม่มีการเดินรถข้ามพรมแดนระหว่างกัน ซึ่งถูกเลื่อนมาแล้วหลายครั้ง

เปิดใช้งาน

การกล่าวรายงาน โดยนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย

22 เมษายน พ.ศ. 2562 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และสมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นประธานร่วมเป็นประธานพิธีเฉลิมฉลองความสำเร็จในการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย - กัมพูชา (บ้านหนองเอี่ยน - สตึงบท) พร้อมด้วยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวง ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงคมนาคม และนางอัมพวัน วรรณโก อธิบดีกรมท่าอากาศยาน เข้าร่วมพิธีฯ[3] นอกจากนี้ ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดสถานีรถไฟด่านพรมแดนบ้านคลองลึก พิธีลงนามความตกลงการเดินรถไฟร่วมกันระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาและพิธีส่งมอบรถดีเซลรางร่วมกับสมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา[10] เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งทางรถไฟระหว่างไทย - กัมพูชา ตลอดจนความร่วมมือต่างๆ ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น[2][11]

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่าทางรถไฟสายนี้ใช้ความเร็วได้เพียง 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และต้องพัฒนาระบบการดูแลเส้นทาง ระบบสัญญาณ และทางร่วมแยกที่ถูกปิดมากว่า 40 ปี มีโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายจากสถานีรถไฟปอยเปตถึงสถานีรถไฟศรีโสภณระยะทาง 48 กิโลเมตร ในอนาคตยังมีแผนที่จะฟื้นฟูเส้นทางไปยังสถานีรถไฟพระตะบอง และก่อสร้างเส้นทางเชื่อมยังสถานีรถไฟพนมเปญ[2] ซึ่งการรถไฟฯ ได้จัดพิธีลงนามความตกลงการเดินรถไฟร่วมกัน ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา พิธีมอบรถดีเซลราง และพิธีเปิดสถานีรถไฟด่านพรมแดนบ้านคลองลึก โดยมีสาระสำคัญและความเป็นมาของทั้ง 3 พิธี ดังนี้[10][11]

  1. พิธีลงนามข้อตกลงการเดินรถความตกลงการเดินรถไฟร่วมกันระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ในอดีตฝ่ายไทย – กัมพูชา เคยมีการเดินรถใน ปี 2485 ซึ่งมีการปิด – เปิด การเดินรถหลายครั้ง และมีการเดินรถครั้งสุดท้ายในเดือนกรกฎาคม 2517 ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยการเชื่อมโยงเครือข่ายทางรถไฟ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2557 ฝ่ายไทยและกัมพูชาได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำร่างความตกลงฯ และได้ร่วมกันหารือเพื่อพัฒนาร่างความตกลงฯ มาอย่างต่อเนื่อง และในการหารือครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2562 ณ กรุงพนมเปญ ทั้งสองฝ่ายได้ข้อสรุปต่อร่างดังกล่าวและปรารถนาที่จะให้มีการลงนามความตกลงฯ ก่อนพิธีส่งมอบรถไฟดีเซลราง และในวันนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้แทนประเทศไทย และ นายซุน จัน ทอล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง เป็นผู้แทนประเทศกัมพูชา เป็นผู้ลงนามความตกลงการเดินรถไฟร่วมกันระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งสาระสำคัญของความตกลงได้ครอบคลุมทั้งการโดยสารและการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเชื่อมโยงด้านรถไฟระหว่างไทย - กัมพูชา ทั้งทางด้านกายภาพ ด้านกฎระเบียบ ตลอดจนความร่วมมือต่าง ๆ ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นด้วย[11][10]
  2. การส่งมอบรถดีเซลรางจากผลการหารือทวิภาคี ในการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue: ACD Summit) ครั้งที่ 2 ในปี 2559 ระหว่างนายกรัฐมนตรีไทย - กัมพูชา ซึ่งได้ตกลงที่จะส่งเสริมการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟไทย - กัมพูชา พร้อม สนับสนุนตู้โดยสารรถไฟให้กับประเทศกัมพูชา เพื่อสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างกันสำหรับรถไฟที่การรถไฟฯ จะส่งมอบให้ประเทศกัมพูชา เป็นรถดีเซลราง หรือ Diesel Multiple Unit (DMU) ผลิตโดย บริษัท ฮิตาชิ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น เป็นรถกำลังดีเซลรางมีห้องขับ (กซข.) หมายเลข 1035 และ 1038 และรถพ่วงดีเซลรางมีห้องขับ (พซข.) หมายเลข 40 และ 45 เข้าประจำการที่การรถไฟฯ ในปี 2513 - 2514 และมีการปรับปรุงในปี 2534 - 2537 โดยทำการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์และเครื่องถ่ายทอดกำลัง รวมถึงการปรับปรุงระบบเครื่องทำลมอัด ทำให้มีประสิทธิภาพในการเดินขบวนรถได้ดียิ่งขึ้น และมีการปรับปรุงครั้งล่าสุด เมื่อปลายปี 2559 ปัจจุบัน การรถไฟฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงรถดีเซลราง จำนวน 4 คัน ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน นอกจากนี้ การรถไฟฯ ได้ทำการฝึกอบรมการขับรถและซ่อมบำรุงรถให้แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายกัมพูชา โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงที่ 1 การฝึกขับรถและตรวจเช็คเบื้องต้น ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 - 26 พฤศจิกายน 2560 ณ โรงรถพ่วงแก่งคอย จังหวัดสระบุรี และช่วงที่ 2 จะจัดขึ้นภายหลังจากที่มีการส่งมอบรถแล้วที่ประเทศกัมพูชา มีเนื้อหาเกี่ยวกับการซ่อมบำรุงรถ และการอบรมเทคนิคการขับเคลื่อน ระยะเวลา 15 วัน และในพิธีส่งมอบวันนี้เจ้าหน้าทีฝ่ายกัมพูชาที่ได้รับการอบรมจะเป็นผู้ขับรถไฟขบวนดังกล่าว[11][10]
  3. สถานีด่านพรมแดนบ้านคลองลึกสืบเนื่องจากความสำเร็จในการก่อสร้างสะพานรถไฟมิตรภาพ ระหว่างไทย – กัมพูชา ในปี 2559 โดยการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลไทย การรถไฟแห่งประเทศไทยได้รับการอนุมัติงบประมาณในการก่อสร้างสถานีชั่วคราว สถานีด่านพรมแดนบ้านคลองลึก เป็นสถานีสุดท้ายของทางรถไฟสายตะวันออก (อรัญประเทศ) ตั้งอยู่บริเวณบ้านคลองลึก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ห่างจากสะพานรถไฟมิตรภาพฯ ประมาณ 200 เมตร มีพื้นที่โดยประมาณ 13,000 ตารางเมตร ประกอบด้วย อาคารสถานี เส้นทางรถไฟทางหลักและทางหลีก ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินงานจัดซื้อครุภัณฑ์พร้อมติดตั้ง ภายในอาคารสถานีแบ่งออกเป็น 6 ห้อง ประกอบด้วย ห้องหน่วยงานความมั่นคง ห้องตรวจปล่อย/ด่านศุลกากร ห้องตรวจคนเข้าเมือง ห้องด่านตรวจพืช ห้องด่านตรวจสัตว์น้ำ และห้องงานสถานีรถไฟ[11][10]

ในโอกาสนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้ขึ้นรถดีเซลรางขบวนดังกล่าว จากสถานีด่านพรมแดนบ้านคลองลึกไปยังสถานีปอยเปต เพื่อส่งมอบรถอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ จากความร่วมมือกันของทั้งสองประเทศ จะส่งเสริมให้การเดินรถไฟสายตะวันออก (อรัญประเทศ) มีความสะดวกสบายมากขึ้น สนับสนุนการค้าชายแดนระหว่างไทยและกัมพูชา ทั้งยังเป็นส่วนสำคัญที่เชื่อมโยงโครงข่ายทางรถไฟตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก - ตะวันตก East - West Corridor ส่งเสริมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ที่สำคัญ ยังเป็นการแสดงถึงความร่วมมืออันเกิดจากมิตรภาพของรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา ที่ต้องการสร้างความสุข ยกระดับคุณภาพชีวิตและความกินดีอยู่ดีให้กับประชาชนทั้ง 2 ประเทศ สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ เพิ่มศักยภาพของภูมิภาคอาเซียนให้สามารถแข่งขันบนเวทีโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ[11]

ใกล้เคียง

สถานี สถานีกลางบางซื่อ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส สถานีกรุงเทพ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) สถานีบางหว้า สถานีอวกาศนานาชาติ สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ สถานีวงเวียนใหญ่ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (ถนนบรมราชชนนี)

แหล่งที่มา

WikiPedia: สถานีรถไฟด่านพรมแดนบ้านคลองลึก http://maps.google.com/maps?ll=13.6627351,102.5479... http://www.multimap.com/map/browse.cgi?lat=13.6627... http://portal.rotfaithai.com/modules.php?name=Foru... http://www.terraserver.com/imagery/image_gx.asp?cp... http://www.globalguide.org?lat=13.6627351&long=102... http://www.thaiworld.org/thn/thailand_monitor/answ... http://www.wikimapia.org/maps?ll=13.6627351,102.54... //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... http://www.railway.co.th/NewsAndEvents/NewsdetailS... https://readthecloud.co/thailand-cambodia-rail-lin...