การยุติการออกอากาศ ของ สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี

การออกอากาศข่าวด่วนของทีไอทีวี ในเวลาประมาณ 23.45 น. วันจันทร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2551

เมื่อวันอังคารที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2551 หลังจาก พระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2551แล้ว[8] สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จึงได้มีหนังสือถึงกรมประชาสัมพันธ์ ให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว กรมประชาสัมพันธ์จึงได้ออกหนังสือคำสั่งที่ 25/2551 ให้สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ยุติการออกอากาศ ตั้งแต่เวลา 00.08 น. ของวันดังกล่าว (ในหนังสือคำสั่งจริงได้ระบุไว้ว่าให้ยุติการออกอากาศในเวลา 24:00 น. ของวันที่ 14 มกราคม 2551)[9] เพื่อให้องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ดำเนินการออกอากาศอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เวลา 00.00 น. ของวันรุ่งขึ้น (15 มกราคม) [10] ภายใต้ชื่อสถานีโทรทัศน์ทีพีบีเอส ส่งผลต้องทำให้มีการหยุดการส่งสัญญาณการออกอากาศจากอาคารชินวัตรทาวเวอร์ 3 เป็นการชั่วคราว ด้วยเวลา 16 วัน โดยเปิดสถานีด้วยการออกอากาศนโยบายของสถานีโทรทัศน์สาธารณะ จากนั้นเป็นสารคดีเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ทั้งหมดส่งสัญญาณจากอาคารที่ทำการ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่[11]

โดยในคืนของวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2551 เวลา 23:45 น. มีการออกอากาศข่าวด่วนของทีไอทีวี เพื่อเตรียมอำลาผู้ชม โดยมีนายธีรัตถ์ รัตนเสวี และ นางสาวศศิวรรณ์ เลิศวิริยะประภาเป็นผู้ประกาศ และปิดรายการด้วยมิวสิกวีดีโอเพลง "คำสัญญา" ร้องโดย วงอินโดจีน โดยเริ่มต้นด้วยภาพฉากแรกของสถานีโทรทัศน์ไอทีวี และภาพความทรงจำตลอดยุคสมัยของไอทีวีและทีไอทีวี

ระหว่างนั้น ในคืนวันเดียวกัน นางสาวตวงพร อัศววิไล บรรณาธิการข่าวประจำวัน ผู้แทนฝ่ายข่าวสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ได้เข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน ให้ดำเนินคดีกับ นายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ในความผิดฐานใช้อำนาจในการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จากการออกคำสั่งกรมประชาสัมพันธ์ดังกล่าว ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับผู้ผลิตรายการและพนักงาน อีกทั้งการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ เป็นกิจการสาธารณะ จำเป็นต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองกลางแล้ว จึงถือว่าเป็นการกระทำเกินอำนาจหน้าที่ของอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์[12]

โดยหลังจากการประชุมของผู้บริหารฝ่ายข่าวสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี มีมติให้ยื่นขอคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวจากศาลปกครอง และยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ในช่วงเช้าวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2551 ด้วย จากนั้น นายอลงกรณ์ เหมือนดาว บรรณาธิการบริหารฝ่ายข่าว เป็นผู้แทนผู้บริหาร กล่าวกับพนักงานว่า ในวันที่ 15 มกราคม ขอให้พนักงานทุกคนเข้าทำงานตามปกติ แต่ให้งดการใช้กล้องวิดีโอและอุปกรณ์ต่างๆ และรอการตัดสินของคณะกรรมการชั่วคราว ที่คณะรัฐมนตรีจะแต่งตั้งในวันรุ่งขึ้น ขณะที่อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ มีคำสั่งห้ามพนักงานทีไอทีวีเข้ามาภายในสำนักงานสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี(ซึ่งหลังจากนี้ก็ได้กลายเป็นชื่อเดิมของสถานีโทรทัศน์ทีพีบีเอส) อาคารชินวัตรทาวเวอร์ 3 มิฉะนั้น จะแจ้งข้อหาบุกรุก[13]

เวลาประมาณ 01.00 น. คืนวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2551 มีประชาชนประมาณ 50 คน เดินทางมาให้กำลังใจกับสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ที่ลานจอดรถหน้าอาคารชินวัตรทาวเวอร์ 3 โดยมี นายอัชฌา สุวรรณปากแพรก ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว ให้การต้อนรับ พร้อมชี้แจงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน ราว 30 นาย เข้ารักษาการณ์ในบริเวณอาคาร[14]

ผู้แทนพนักงานสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี เดินทางไปยังศาลปกครอง เพื่อยื่นคำร้อง ขอไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อให้เพิกถอนคำสั่งกรมประชาสัมพันธ์ ที่ 25/2551 ดังกล่าว โดยศาลได้นัดไต่สวนฉุกเฉิน ในวันที่ 16 มกราคม เวลา 13.30 น.[15] ซึ่งการไต่สวนเสร็จสิ้นลง เมื่อเวลา 17.00 น. ทั้งนี้ ศาลได้นัดรับคำพิพากษาทางโทรสาร ในช่วงบ่ายวันที่ 17 มกราคม แต่เมื่อถึงเวลา ทางศาลขอเลื่อนการส่งคำพิพากษาไปเป็นเวลา 16.00 น.[16] ที่สุดผลปรากฏว่า ศาลพิจารณาให้ยกคำร้องคุ้มครองฉุกเฉิน[17][18]

ต่อมา เมื่อวันที่ 18 มกราคม ผู้บริหารทีไอทีวีได้นัดประชุมอีกครั้ง โดยมีมติให้ส่งตัวแทนเข้าพบ คณะกรรมการนโยบายชั่วคราว ขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พร้อมยื่นหนังสือสอบถาม ถึงการรับพนักงานทีไอทีวีกลับเข้าทำงาน รวมทั้งใบสมัครของพนักงานให้พิจารณาด้วย[19] ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ทางองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ได้ประกาศรับพนักงานของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีแต่เพียงบางส่วนเข้าทำงาน โดยให้เข้าทำงานในลักษณะของพนักงานชั่วคราวเป็นเวลา 3 เดือน และในระหว่างที่ทำงานนี้ หากประสงค์เข้าทำงานถาวรกับทางองค์การ ก็จะต้องยื่นใบสมัครเข้าทำงานเช่นเดียวกันกับผู้สมัครเป็นพนักงานขององค์การฯโดยทั่วไปเช่นกัน

ดังนั้น ในที่สุดแล้ว การเปลี่ยนแปลงจากสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ไปสู่การเป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะ คือ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส นับเป็นการสิ้นสุดลงของการเป็นสถานีโทรทัศน์เสรีในประเทศไทย ซึ่งมีมานานเกือบ 12 ปี ภายใต้คลื่นความถี่ระบบยูเอชเอฟ (UHF) ที่เป็นความถี่เดียวกัน และเครื่องส่งโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ ช่อง 26 และช่อง 29 ที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเคยออกอากาศในนามของ สถานีโทรทัศน์ไอทีวี มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539

ใกล้เคียง

สถานี สถานีกลางบางซื่อ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส สถานีกรุงเทพ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) สถานีบางหว้า สถานีอวกาศนานาชาติ สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ สถานีวงเวียนใหญ่ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (ถนนบรมราชชนนี)

แหล่งที่มา

WikiPedia: สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี http://www.bangkokbiznews.com/2007/03/07/WW10_WW10... http://www.thaisnews.com/prdnews/sdu/main.htm http://www.komchadluek.net/2007/03/02/a001_95295.p... http://www.komchadluek.net/2007/03/07/a001_96563.p... http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Def... http://www.thairath.co.th/online.php?section=newst... http://www.thairath.co.th/online.php?section=newst... http://www.thairath.co.th/online.php?section=newst... http://www.thairath.co.th/online.php?section=newst... http://www.thairath.co.th/online.php?section=newst...