ประวัติ ของ สถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง_๔

พระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ.2551  ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2551 กำหนดวัตถุประสงค์ของการจัดการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพ เพื่อจัดการศึกษาในด้านวิชาชีพที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและแผนการศึกษาแห่งชาติ เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนในด้านวิชาชีพระดับฝีมือ ระดับเทคนิคและระดับเทคโนโลยี รวมทั้งเป็นการยกระดับการศึกษาวิชาชีพให้สูงขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานโดยนำความรู้ในทางทฤษฎีอันเป็นสากลและภูมิปัญญาไทยมาพัฒนาผู้รับการศึกษาให้มีความรู้ความสามารถในทางปฏิบัติและมีสมรรถนะจนสามารถนำไปประกอบอาชีพในลักษณะผู้ปฏิบัติหรือประกอบอาชีพโดยอิสระได้ ภายใต้วัตถุประสงค์ต้องคำนึงถึงการมีเอกภาพด้านนโยบายและมีความหลากหลายในทางปฏิบัติ โดยมีการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่สถานศึกษาอาชีวศึกษาและสถาบันการศึกษาในด้านวิชาชีพสำหรับประชาชนวัยเรียนและวัยทำงานตามความถนัดและความสนใจอย่างทั่วถึงและต่อเนื่องจนถึงระดับปริญญาตรี การมีส่วนร่วมของชุมชน สังคม และสถานประกอบการในการกำหนดนโยบายการผลิตและพัฒนากำลังคน รวมทั้งการกำหนดมาตรฐานการอาชีวศึกษา การศึกษาที่มีความยืดหยุ่นหลากหลาย และมีระบบเทียบโอนผลการเรียนและระบบเทียบประสบการณ์การทำงานของบุคคล เพื่อเข้ารับการศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง การมีระบบจูงใจให้สถานประกอบการมีส่วนร่วมในการจัดการอาชีวศึกษา และการฝึกอบรมวิชาชีพ การระดมทรัพยากรทั้งจากภาครัฐและเอกชนในการจัดการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพ   โดยคำนึงถึงการประสานประโยชน์อย่างทั่วถึงและเป็นธรรมการมีระบบการพัฒนาครูและคณาจารย์ของการอาชีวศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

การจัดการอาชีวศึกษามี 3 รูปแบบ ประกอบด้วย 1) การศึกษาในระบบ เป็นการจัดการศึกษาวิชาชีพที่เน้นการศึกษาในสถานศึกษาอาชีวศึกษาหรือสถาบันเป็นหลัก โดยมีการกำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษาหลักสูตร  ระยะเวลา การวัดและการประเมินผลที่เป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษาที่แน่นอน 2) การศึกษานอกระบบ  เป็นการจัดการศึกษาวิชาชีพที่มีความยืดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมาย รูปแบบ  วิธีการศึกษา ระยะเวลา การวัดและการประเมินผลที่เป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษา โดยเนื้อหาและหลักสูตรจะต้องมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของบุคคลแต่ละกลุ่มและ 3) การศึกษาระบบทวิภาคี เป็นการจัดการศึกษาวิชาชีพที่เกิดจากข้อตกลงระหว่างสถานศึกษาอาชีวศึกษาหรือสถาบันกับสถานประกอบการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐในเรื่องการจัดหลักสูตรการเรียนการสอน  การวัดและการประเมินผล โดยผู้เรียนใช้เวลาส่วนหนึ่งในสถานศึกษาอาชีวศึกษาหรือสถาบัน  และเรียนภาคปฏิบัติในสถานประกอบการรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐนอกจากนั้นมาตรา 13 กำหนดให้สถานศึกษาอาชีวศึกษาสามารถรวมกันเป็นสถาบันได้

         กฏกระทรวงการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษา  เพื่อจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษา พ.ศ.  2555 เมื่อ  13  มิถุนายน พ.ศ.  2555  ให้จัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 4  ประกอบด้วย วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี วิทยาลัยเทคนิคโพธาราม วิทยาลัยเทคนิคกาญจนบุรี วิทยาลัยอาชีวศึกษากาญจนบุรี  วิทยาลัยการอาชีพกาญจนบุรี  วิทยาลัยเทคนิคนครปฐม วิทยาลัยอาชีวศึกษานครปฐม วิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรี และวิทยาลัยอาชีวศึกษาสุพรรณบุรี

         สถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง  4 สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษากระทรวงศึกษาธิการ  มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงที่ชำนาญการปฏิบัติการสอน  การวิจัย การถ่ายทอดวิทยาการและเทคโนโลยี  ทะนุบำรุงศาสนาศิลปวัฒนธรรมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรวมทั้งให้บริการวิชาการและวิชาชีพแก่สังคม  ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 16  พระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา  พ.ศ. 2551  นอกจากนั้นมาตรา  19 กำหนดให้สถาบันจะรับสถานศึกษาอื่นหรือสถานประกอบการเข้าสมทบในสถาบัน  เพื่อประโยชน์ในการวิจัยและพัฒนามาตรฐานการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพได้  และมีอำนาจให้ประกาศนียบัตรวิชาชีพ  ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หรือปริญญาตรีแก่ผู้ที่ศึกษาจากสถานศึกษาหรือสถานประกอบการ  และสำเร็จการศึกษาตามหลักเกณฑ์ของสถาบันได้

         สถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 4  สังกัดสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา  มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดการศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพ เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนในด้านวิชาชีพระดับฝีมือ  ระดับเทคนิค ระดับปริญญาสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ รวมทั้งส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงมีความชำนาญในการสอน  ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยพัฒนามาตรฐานการอาชีวศึกษา  การถ่ายทอดวิทยาการและเทคโนโลยี  การทะนุบำรุงศาสนา ศิลปะ  วัฒนธรรมและอนุรักษุ์สิ่งแวดล้อม  ให้บริการวิชาการและวิชาชีพแก่สังคม  จัดทำข้อเสนอแนะ  แนวนโยบาย แผนพัฒนาสถาบัน ให้สอดคล้องกับมาตรฐานการอาชีวศึกษา มาตรฐานวิชาชีพ  และหลักสูตรการอาชีวศึกษาของสถาบัน ส่งเสริมประสานความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาอาชีวศึกษาหรือสถาบันการศึกษาอาชีวศึกษาเอกชน สถานประกอบการภาคเอกชนหรือหน่วยงานของรัฐในการเข้าร่วมเป็นเครือข่ายของสถาบัน  เพื่อประโยชน์ทางวิชาการ  การวิจัยพัฒนาการอาชีวศึกษา  การจัดการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพ  ดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอจัดตั้งงบประมาณ การจัดหารายได้การบริหารงบประมาณการเงินและทรัพย์สินของสถาบัน  ดำเนินการเกี่ยวกับการควบคุมคุณภาพมาตรฐานการอาชีวศึกษา การติดตามตรวจสอบการประเมินผลการบริหารจัดการของสถาบันให้สอดคล้องกับนโยบาย  แผนพัฒนา และมาตรฐานการอาชีวศึกษา ดำเนินงานเกี่ยวกับงานเลขานุการสภาสถาบันดำเนินการตามที่สภาสถาบันมอบหมาย และปฏิบัติงานอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของสภาสถาบันหรือตามที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษามอบหมาย

ใกล้เคียง

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ สถาบันการบินพลเรือน สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน สถาบันพระบรมราชชนก สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์