ประวัติ ของ สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์

สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ หรือ ซีไอดีไอชนาพัฒน์ (Chanapatana International Design Institute: CIDI) เดิมชื่อ "สถาบันชนาพัฒน์" ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2543 ตามดำริของพระธรรมมงคลญาณ หรือ หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร เจ้าอาวาสวัดธรรมมงคล มีพันธกิจหลักเพื่อพัฒนานักออกแบบไทยให้สามารถพัฒนาฝีมือการออกแบบให้มีความทัดเทียมและสามารถแข่งขันกับชาวต่างชาติได้โดยใช้หลักสูตรจากประเทศอิตาลี และเริ่มการเรียนการสอนเป็นครั้งแรกในเดือนกันยายน พ.ศ. 2544 มีจำนวนนักศึกษาทั้งสิ้น 35 คน

ดำริเริ่มแรกในการสร้างสถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์แห่งนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากพระญาณวิริยาจารย์ (สมณศักดิ์ในขณะนั้น) ที่เล็งเห็นถึงศักยภาพในด้านต่างๆ ของคนไทย และต้องการที่จะพัฒนาและสนับสนุนคนไทยให้มีความสามารถทัดเทียมกับนานาประเทศ ซึ่งท่านได้กล่าวไว้ว่า “ประเทศไทยของเรามีทั้งมันสมอง มีทั้งสติและมีทั้งปัญญา มีทั้งทรัพยากร มีทั้งโอกาสหลายๆ โอกาส ทำไมไม่ใช้โอกาสเหล่านี้พัฒนาให้เข้าขั้นหรือถึงขั้น อันนี้มิใช่จะดูถูกคนไทย เพราะคนไทยเรารักสงบและมีความสงบสุข แม้จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ประเทศไทยก็ไม่ได้รับความกระทบกระเทือนมากเกินไป ก็ได้รับความสงบสุขตลอดมาและประเทศไทยมีปัญญาชนที่มีสมองที่ปราดเปรื่อง ยังแต่ว่าจะทำอย่างไรจะหาเครื่องช่วยสนับสนุนความปราดเปรื่องอันนี้ให้บรรลุจุดหมายได้ เพราะศักยภาพคนไทยพัฒนาได้ไม่แพ้ใคร” ความคิดนี้สืบเนื่องมาจากช่วงเวลาที่ประเทศไทยในขณะนั้นประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจ ค่าเงินบาทลอยตัว ประชาชนชาวไทยประสบกับความเดือดร้อน เกิดปัญหาว่างงาน จึงทำให้พระเทพเจติยาจารย์เกิดความห่วงใย แม้ในฐานะแห่งพระภิกษุรูปหนึ่ง ตามที่ได้ดำริว่า “อาตมามีความเป็นห่วงใยประเทศชาติ คือ ประเทศไทยไม่น้อยหน้าไปกว่าท่านอื่นๆ ที่ห่วงใยประเทศไทย แม้ว่าอาตมาเองจะเป็นพระสงฆ์รูปหนึ่งก็มีหน้าที่พระสงฆ์ ที่จะต้องสวดมนต์ภาวนา สอนสมาธิและวิปัสสนา แต่ว่าพระสงฆ์อย่างที่อาตมาเป็นพระสงฆ์อยู่ในขณะนี้ อาตมามาคำนึงถึงว่า อาตมาเป็นพระสงฆ์ อาตมาก็เป็นคนไทยคนหนึ่ง ซึ่งก็มีสิทธิที่จะรักประเทศชาติ เช่นเดี่ยวกับคนอื่นๆ เมื่อเป็นเช่นนั้นอาตมาก็มองไปโดยรอบว่า ส่วนใดของประเทศไทยที่ขาดตกบกพร่องบ้าง หรือว่ามีอะไรที่จะส่งเสริมให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้าก็คอยจับตามองและคอยช่วยเหลือมาตลอด”

ด้วยดำริดังกล่าวนี้ พระธรรมมงคลญาณได้กำหนดแนวทางในการพัฒนาคนไทย โดยได้กำหนดให้มีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด คือ ให้มีการเรียนรู้จากผู้ที่เป็นยอดอยู่แล้วในสาขานั้น ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่มีผู้ใดปฏิเสธว่าประเทศอิตาลีคือผู้นำด้านการออกแบบของโลก โดยท่านได้อรรถาธิบายแนวทางดังกล่าวนี้ไว้ ดังนี้ “ถ้าเราจะดันทุรังไม่ฟังเสียงของชาวโลก มุ่งมั่นทำผลงานของเราเรื่อยไปก็ย่อมได้ แต่จะต้องใช้เวลาอันยาวนานเปรียบดังคนไม่มีชื่อเสียงในสังคมโลก กว่าจะสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่ยอมรับหรือเด่นดังขึ้นมามิใช่เรื่องง่าย แต่ถ้ามีใครชื่อเสียงโด่งดังในสังคมโลก เขาจะทำอะไรก็เป็นที่สนใจของชาวโลกเกิดค่านิยมชมชอบ เป็นที่ยอมรับในสังคม ใครๆ ได้อยู่ใกล้ก็พลอยมีชื่อเสียงโด่งดังไปด้วย เพราะฉะนั้น อาตมาต้องการให้คนไทยมีชื่อเสียงในเรื่องการออกแบบต่างๆ และไม่ต้องไปเรียนที่ประเทศอิตาลีให้เสียงเงินทองมากมาย”

และเพื่อให้โอกาสทางการศึกษานี้เปิดกว้างที่สุดสำหรับคนไทย จึงไม่คิดแต่เพียงการมอบทุนการศึกษาให้กับผู้ที่สนใจไปศึกษาต่อที่ประเทศอิตาลี แต่พระธรรมมงคลญาณได้ทำให้ในสิ่งที่เรียกว่า “หาคนอิตาลีมาฝึกความปราดเปรื่องของคนไทยได้ โดยไม่ต้องไปประเทศอิตาลี” คือการตกลงร่วมมือกับสถาบันออกแบบชั้นนำที่ตั้งอยู่ ณ กรุงฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ซึ่งจากการที่หลวงพ่อได้ไปสัมผัสสถาบันแห่งนี้ พบว่า “มีนักศึกษามาเรียนกันทั่วโลก ทั้งญี่ปุ่น, จีน, ไทย, เยอรมัน, อังกฤษ, ฮอลแลนด์, สวีเดน, ฟินแลนด์ คนเหล่านี้เค้ามีความภูมิใจที่ได้มาเรียนที่สถาบันแห่งนี้ ทุกคนยอมรับ มิหนำซ้ำรัฐบาลของฟินแลนด์, ยูเครน, สวีเดนให้ทุนกับนักศึกษามาเรียนที่นี่ด้วย” ในวันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 จึงได้มีการลงนามความร่วมมือทางวิชาการเพื่อให้มีการเรียนการสอน ณ วัดธรรมมงคล ภายใต้หลักสูตรและคณาจารย์ของสถาบันจากอิตาลีทั้งหมด การดำเนินการครั้งนี้นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีและถือว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในการจัดการศึกษาด้านการออกแบบโดยความร่วมมือกับสถาบันต่างชาติ ดังจะเห็นได้ว่ามีสถาบันอื่นๆ ดำเนินการในรูปแบบเดียวกันนี้อีกมากมายในช่วงเวลาต่อมา

การปฐมนิเทศนักศึกษารุ่นที่ 1 มีขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2544 ณ ห้องประชุมวัดธรรมมงคล นักศึกษาในรุ่นที่ 1 นี้ทั้งหมด 35 คน โดยแต่เดิมมีการเรียนการสอนเป็นภาษาอิตาลี นักศึกษาจึงจะต้องไปศึกษาหลักสูตรภาษาอิตาลีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสียก่อน จึงจะมาเริ่มศึกษาหลักสูตรการออกแบบ และมีการเรียนการสอนใน 3 หลักสูตร คือ หลักสูตรการออกแบบตกแต่งภายใน หลักสูตรออกแบบแฟชั่น และหลักสูตรออกแบบเครื่องหนัง ภายหลังเมื่อมีการรับสมัครนักศึกษารุ่นต่อมา ได้มีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้สอดคล้องกับสังคมไทยมากขึ้น จึงมีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษใน 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรการออกแบบตกแต่งภายในและผลิตภัณฑ์ และหลักสูตรออกแบบแฟชั่น

ใกล้เคียง

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ สถาบันการบินพลเรือน สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน สถาบันพระบรมราชชนก สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

แหล่งที่มา

WikiPedia: สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ http://www.chanapatana.com http://www.chanapatana.com/ http://gampell.com/fashion.htm http://maps.google.com/maps?t=k&q=Thailand&om=1&ll... http://www.hisoparty.com/page/cont-f4.php?cont_id=... http://www.thaicatwalk.com/forum/showthread.php?t=... http://thairath.com/news.php?section=society-women... http://www.quirinale.it/onorificenze/insegne/Parur... http://www.komchadluek.net/detail/20120526/131165/... http://thairath.co.th/news.php?section=specialsund...