เบื้องหลัง ของ สนธิสัญญาเบอร์นี

หลังจากบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษตั้งอาณานิคมขึ้นบนเกาะปีนัง ใน พ.ศ. 2329 แล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอังกฤษก็เริ่มมีการเมืองเข้ามาแทรก และเป็นที่คาดว่าอังกฤษต้องการขยายอิทธิพลเข้าครอบครองคาบสมุทรมลายูต่อไป ต่อมา ในปี พ.ศ. 2364 เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ยกทัพมาตีเมืองไทรบุรี ซึ่งเจ้าเมืองคนเก่าได้ยกปีนังให้อังกฤษ สุลต่านไทรบุรีก็ทิ้งเมืองหนีไปยังเกาะปีนัง ทหารไทยไล่ติดตามไปก็ถอยกลับ เนื่องจากไม่ต้องการรบกับอังกฤษ[3] ยอน ครอเฟิดเข้ามาเจรจากับไทยทั้งในด้านการค้าและขอให้สุลต่านไทรบุรีกลับไปครองเมืองอย่างเดิมก็ไม่ประสบผลแต่อย่างใด

สาเหตุที่ไทยกับอังกฤษกลับมาเจรจากันอีกครั้งมีหลายสาเหตุด้วยกัน อธิบายได้ว่า การที่ไทยได้ไทรบุรีอยู่ในปกครองนั้น ทำให้เประและสลังงอของอังกฤษเสี่ยงต่อการถูกยึดครอง อังกฤษต้องการให้ไทยถอนตัวจากไทรบุรี และให้สุลต่านกลับไปปกครองดังเดิม ครั้นในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2367 รอเบิร์ต ฟุลเลอตันได้เป็นเจ้าเมืองปีนังคนใหม่ ต้องการขับไล่ไทยจากไทรบุรี ก็ขอให้รัฐบาลอินเดียส่งทูตมาบังคับไทยไม่ให้แผ่อิทธิพลในคาบสมุทรมลายู ด้านการสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งแรก การรบไม่คืบหน้าเท่าที่ควร อังกฤษต้องการให้ไทยช่วยรบ นอกจากนี้ รัฐบาลอินเดียได้รับคำฟ้องจากพ่อค้าอังกฤษว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการค้าขายกับไทย จึงเป็นสาเหตุให้รัฐบาลอินเดียส่งเฮนรี เบอร์นีมาเป็นทูตเจรจากับไทย[4]

ใกล้เคียง

สนธิสัญญาแวร์ซาย สนธิสัญญาเบาว์ริง สนธิสัญญาเบอร์นี สนธิสัญญาญี่ปุ่น–สยาม พ.ศ. 2440 สนธิสัญญาสันติภาพ สนธิสัญญาสยาม–ฝรั่งเศส ร.ศ. 122 สนธิสัญญาปารีส (ค.ศ. 1783) สนธิสัญญาทรียานง สนธิสัญญา สนธิสัญญาอึลซา