การทำงาน ของ สนอง_นิสาลักษณ์

พล.ร.ต.สนอง เริ่มรับราชการในตำแหน่งประจำแผนกปืน เรือรบหลวงศรีอยุธยา จากนั้นได้เปลี่ยนเป็นนักบิน ประจำกองการบินทหารเรือ และมีความเจริญก้าวหน้าทางราชการจนในที่สุด เป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ถึง 2 สมัย คือ ในปี พ.ศ. 2500 และ พ.ศ. 2505-พ.ศ. 2509 และมีตำแหน่งสูงสุดในชีวิตทหารเรือ คือ เจ้ากรมการข่าวทหารเรือ พ.ศ. 2509

นอกจากนี้แล้ว ยังเป็นเอกอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็ม ประจำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เมื่อปี พ.ศ. 2514, เอกอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็ม ประจำสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย เมื่อปี พ.ศ. 2516 และ เอกอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มประจำสาธารณรัฐสังคมนิยมโรมาเนีย เมื่อปี พ.ศ. 2517 ก่อนจะเกษียณอายุราชการในตำแหน่ง นายทหารนอกราชการ สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เมื่อปี พ.ศ. 2519

หลังเกษียณอายุราชการแล้ว พล.ร.ต.สนอง ได้เข้าสู่แวดวงการเมือง ด้วยการเป็นที่ปรึกษากระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม[3] ในรัฐบาลที่มี พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ระหว่างปี พ.ศ. 2521-พ.ศ. 2522 จากนั้นได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร (ส.ส. กทม.) สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2526 โดยร่วมทีมเดียวกับ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) มารุต บุนนาค และหม่อมหลวงเสรี ปราโมช

พล.ร.ต.สนอง นิสาลักษณ์ ถึงแก่อนิจกรรมระหว่างดำรงตำแหน่ง ส.ส. เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2526 จึงมีการเลือกตั้งซ่อม และเป็น พล.อ.หาญ ลีลานนท์ เป็นผู้ได้รับเลือกตั้งแทนไปในที่สุด [4]