ประวัติ ของ สปริงนิวส์

สปริงนิวส์ ได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ซึ่งเป็นวันที่จดทะเบียนบริษัท เริ่มทดลองแพร่ภาพทางโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2553 และได้มีการเปิดตัวสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมสปริงนิวส์เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ที่โรงแรมเรเนซองส์ สี่แยกราชประสงค์ ในช่วงทดลองออกอากาศ สปริงนิวส์ได้ออกอากาศตั้งแต่เวลา 9.00 น. ถึง 24.00 น. จากนั้นได้ขยายมาเป็น 24 ชั่วโมงในเวลาต่อมา มีสำนักงานอยู่ที่ชั้น 11 อาคารไอที สแควร์ หลักสี่ ถนนวิภาวดีรังสิต

หลังการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมสปริงนิวส์ ได้ย้ายที่ทำการไปยังอาคารเล้าเป้งง้วน 1 ชั้น 11 ซอยเฉยพ่วง ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 มาตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2553 และได้มีการปรับผังรายการตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 และช่วงกลางปี 2554 ข่าวทุกช่วงได้ปรับมาใช้ชื่อ "ข่าวจริง สปริงนิวส์" โดยมีการบอกเวลาในไตเติลข่าวอีกด้วย

ความร่วมมือกับซีเอ็นเอ็น

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 สปริงนิวส์ได้ทำข้อตกลงความร่วมมือกับซีเอ็นเอ็น ในการนำเสนอเนื้อหารายการจากทางซีเอ็นเอ็นไอรวมถึงการจัดการฝึกอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ของสปริงนิวส์เอง ระนาบเดียวกันสปริงนิวส์ได้เปิดตัวอัตลักษณ์ใหม่ รวมถึงกราฟิกหน้าจอที่ถอดรูปแบบมาจากซีเอ็นเอ็น โดยกราฟิกแบบนี้เริ่มใช้ครั้งแรกในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560[2]

การปรับเปลี่ยนรูปแบบรายการและความร่วมมือกับทีวี ไดเร็ค

ในช่วงกลางปี 2561 สปริงนิวส์ ได้ปรับรูปแบบออกอากาศใหม่ โดยสปริงนิวส์ได้ปรับเปลี่ยนจากสถานีโทรทัศน์มาเป็นผู้ผลิตรายการเพื่อผลิตรายการข่าวต่างๆ ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ ทีวีดิจิทัล ช่อง 19 รวมถึงสปริง 26 (ในตอนนั้นใช้ชื่อนาว 26) และเนชั่นทีวี ช่อง 22 ในชื่อเครื่องหมายการค้าสปริงนิวส์ เน็ตเวิร์ค (อังกฤษ: Spring News Network) จนถึงปัจจุบัน รวมถึงได้มีความร่วมมือกับ บริษัท ทีวีไดเร็ค จำกัด (มหาชน) ในการออกอากาศรายการแนะนำสินค้าจากทีวีไดเร็ควันละ 18 ชั่วโมง

ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2561 ทีวีไดเร็คเข้าซื้อหุ้นของสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ร้อยละ 90.10[3] ภายหลังได้ยุติการลงทุนในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเตรียมออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ส่งผลให้เกิดการเจรจาระหว่างกันภายใต้เงื่อนไขใหม่ ซึ่งยังไม่สามารถหาข้อสรุป[4]

การขอคืนใบอนุญาต

สปริงนิวส์ ได้ขอคืนใบอนุญาตที่มีการแจ้งความประสงค์เพื่อขอคืนใบอนุญาตแล้ว เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2562 คณะอนุกรรมการเยียวยาฯ เพื่อพิจารณาเรื่องแผนเยียวยาผู้บริโภคและการเยียวยาพนักงานของช่องสปริง 26 และสปริงนิวส์ มีมติให้ช่องสปริงนิวส์ ยุติการออกอากาศในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2562[5] โดยหลังจากการยุติออกอากาศ สปริงนิวส์ยังคงเผยแพร่เนื้อหาผ่านทางช่องทางออนไลน์

สปริงนิวส์ได้ยุติการผลิตรายการข่าวทางโทรทัศน์ที่ออกอากาศคู่ขนานทางสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ ช่อง 19 และสถานีโทรทัศน์สปริง 26 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ก่อนการยุติการออกอากาศในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2562 และได้นำรายการสารคดีและรายการที่ให้ความรู้มาแทนรายการข่าวที่เคยออกอากาศ รวมถึงได้เปลี่ยนมาออกอากาศรายการข่าวสั้นจากเนชั่นทีวี แทนที่รายการข่าวสั้นที่เคยผลิตโดยสปริงนิวส์ โดยกองบรรณธิการยังคงทำการผลิตข่าว สาระ ข้อมูล ความรู้ บนโลกดิจิตอลผ่านทางเว็บไซต์ www.springnews.co.th