ชุมนุมใหญ่หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ของ สภาพจลาจลหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง

นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้อธิบายว่า แนวคิดที่ว่าดินแดนสมัยอาณาจักรอยุธยาเดิมถูกแบ่งออกเป็น 5 ชุมนุม อาจเป็นแนวคิดจากพระวนรัตน์ แต่ชุมนุมที่ถูกนับนี้ เป็นชุมนุมที่มีขนาดใหญ่และมีอิทธิพลทางการเมืองอย่างมากเท่านั้น ซึ่งพระราชพงศาวดารก็ได้บันทึกตามนี้เช่นกัน[4]

ชุมนุมพระยาตาก

เป็นชุมนุมของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ก่อนที่จะตั้งกรุงธนบุรี เมื่อพระยาตากพิจารณาเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาไม่มีทางรบชนะ จึงนำทหารจำนวนหนึ่งไปสร้างฐานกำลังตั้งตัวเป็นใหญ่ที่เมืองจันทบุรี มีอาณาเขตตั้งแต่ชายแดนกัมพูชา จนถึงเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออกทั้งหมด

ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก

เจ้าพระยาพิษณุโลกตั้งตัวเป็นเจ้าเมืองพิษณุโลก มีอาณาเขตตั้งแต่เมืองพิชัยลงมาจนถึงเมืองนครสวรรค์ และ ปากน้ำโพ เจ้าพระยาพิษณุโลกมีนามเดิมว่า เรือง เคยเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ในกรุงศรีอยุธยา และเป็นผู้ที่มีความสามารถในการสู้รบ จึงมีผู้นับถืออยู่มาก เมื่อตั้งตนเป็นเจ้าแล้ว ได้มีข้าราชการเก่ากรุงศรีอยุธยาขึ้นมาสวามิภักดิ์อยู่ด้วยหลายนาย

ในปี พ.ศ. 2311 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงยกทัพไปปราบชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก เจ้าพระยาพิษณุโลกได้ให้หลวงโกษา (ยัง) ยกกองทัพมาตั้งรับที่ตำบลเกยชัย เขตเมืองนครสวรรค์ พอกองทัพของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกขึ้นไปถึง ก็ได้ปะทะรบพุ่งกันอย่างสามารถ ข้าศึกได้ยิงปืนมาถูกพระชงฆ์ (หน้าแข้ง) ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีบาดเจ็บ จึงต้องยกทัพกลับ เจ้าพระยาพิษณุโลกเห็นเป็นโอกาสเหมาะ จึงตั้งตนเป็นพระมหากษัตริย์ พอราชาภิเษกได้ 7 วัน ก็ได้ประชวร และถึงแก่พิราลัยในที่สุด พระอินทรอากร น้องชายของเจ้าพระยาพิษณุโลกจึงได้ขึ้นครองเมืองแทน แต่ก็ทำให้เมืองพิษณุโลกอ่อนแอตามลำดับ ด้วยเหตุนี้ เจ้าพระฝางเห็นเป็นโอกาสอันเหมาะ จึงยกทัพลงมาตีเมืองพิษณุโลก และผนวกรวมกับชุมนุมพระฝางไปในที่สุด

ชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช

ภาพแสดงที่ตั้งชุมนุมต่าง ๆ หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง (พ.ศ. 2310)
1: ชุมนุมพระยาตาก (รวมกับชุมนุมสุกี้พระนายกอง)
2: ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก
3: ชุมนุมเจ้าพระฝาง
4: ชุมนุมเจ้าพิมาย
5: ชุมนุมเจ้าพระยานครศรีธรรมราช

พระปลัด (หนู) ผู้รั้งตำแหน่งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ได้ตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าที่เมืองนครศรีธรรมราช ชาวบ้านเรียกว่า เจ้านคร มีอาณาเขตตั้งแต่เมืองชุมพรจนถึงหัวเมืองมลายู

เจ้าเมืองนี้มีชื่อเดิมว่า (หนู) เป็นเชื้อสายเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ได้เข้ามาถวายงานที่กรุงศรอยุธยา มีความชอบจนได้เป็น หลวงสิทธิ์นายเวร มหาดเล็ก แล้วไปเป็นปลัดเมืองนครศรีธรรมราชต่อมา เมื่อพระยาราชสุภาวดี เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชมีความผิด หลวงสิทธิ์นายเวรจึงไปเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชแทน

เมื่อปี พ.ศ. 2312 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพไปปราบชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช โดยมีเจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพ กองทัพเจ้านครฯ กับกองทัพกรุงธนบุรีได้สู้รบกันอย่างสามารถ แต่แม่ทัพกรุงธนบุรีที่ยกทัพไปกลับไม่ปรองดองกัน จึงไม่สามารถปราบชุมนุมเจ้านครฯ ได้สำเร็จ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงต้องทรงลงไปตีด้วยพระองค์เอง แล้วก็ทรงตีได้สำเร็จ เจ้านครศรีธรรมราช เจ้าหนู ต้องหนีละทิ้งเมืองไปอยู่ที่เมืองปัตตานี แต่เจ้าเมืองปัตตานีเกรงกลัวกองทัพสยาม จึงส่งตัวกลับมาให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตั้งแต่นั้นมาหัวเมืองปักษ์ใต้จึงมาอยู่ภายใต้อำนาจกรุงธนบุรี พระองค์ทรงไม่ประหารเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เพราะเนื่องจาก ในขณะนั้นกรุงศรีอยุธยาแตก ไม่มีเมืองที่ใหญ่กว่ามาปกครอง เมืองนครศรีธรรมราชจึงต้องตั้งตนเป็นอิสระ

ชุมนุมเจ้าพิมาย

ชุมนุมเจ้าพิมายนั้น มี กรมหมื่นเทพพิพิธ เป็นเจ้าเมือง กรมหมื่นเทพพิพิธ พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ผนวชในรัชสมัยพระเจ้าเอกทัศ แต่ต่อมาได้มีความผิดฐานคิดกบฏ จึงถูกเนรเทศออกไปอยู่ที่ลังกา และ เมื่อพระเจ้ามังระส่งกองทัพมาตีไทย กรมหมื่นเทพพิพิธได้ทราบว่าเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่า จึงได้เดินทางกลับไทย เกลี้ยกล่อมผู้คนในเมืองนครราชสีมาให้สมัครเป็นพรรคพวกของตน และในที่สุดก็ยึดเมืองนครราชสีมาได้

ต่อมา หลวงแพ่ง น้องพระยาราชสีมาได้ไปเกณฑ์พลจากเมืองพิมาย เพื่อไปตีเมืองนครราชสีมาเอาเมืองคืน ปรากฏว่ารบชนะ จึงจับกรมหมื่นเทพพิพิธได้ หลวงแพ่งต้องการที่จะประหารชีวิตกรมหมื่นเสีย แต่เจ้าพิมายมีความสงสารจึงขอชีวิตไว้ และขอนำกรมหมื่นเทพพิพิธไปคุมไว้ที่เมืองพิมาย แต่เจ้าพิมายจงรักภักดีต่อเจ้ากรุงศรีอยุธยามาก จึงยกกรมหมื่นเทพพิพิธขึ้นเป็นเจ้าเมืองพิมาย ส่วนตนนั้นได้ถูกแต่งตั้งให้เป็น เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการบ้านเมืองทั้งหมด หลังจากนั้น กรมหมื่นฯก็ได้กำจัดหลวงแพ่ง แล้วยึดเมืองนครราชสีมา และ หัวเมืองน้อยใหญ่ทั้งปวงมารวมกับพิมายทั้งหมด

หลังจากการสถาปนากรุงธนบุรีสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระบัญชาให้ พระราชวริน (ทองด้วง) และพระมหามนตรี (บุญมา) ยกทัพไปตีชุมนุมพิมาย ภายหลังจากทรงหายจากการรบกับพิษณุโลก และ เป็นปีเดียวกันกับปีที่ยกทัพไปตีพิษณุโลก กองทัพพิมายมิสามารถต้านทานกองทัพกรุงธนบุรีได้จึงต้องแตกพ่ายไป ครั้นเมื่อกรมหมื่นเทพพิพิธทราบข่าว จึงรีบอพยพครอบครัวไปอยู่เวียงจันทน์ แต่ ขุนชนะ กรมการเมืองนครราชสีมาตามตัวไว้ได้ทัน จึงนำมาถวายสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระองค์จึงจำต้องสำเร็จโทษกรมหมื่นเทพพิพิธ

ชุมนุมเจ้าพระฝาง

ดูบทความหลักที่: ชุมนุมเจ้าพระฝาง

พระสังฆราชาในเมืองสวางคบุรี (ฝาง) ได้ตั้งตนเป็นเจ้า ทั้งที่ยังเป็นพระภิกษุอยู่ ชาวบ้านทั่วไปเรียก เจ้าพระฝาง หรือ พระเจ้าฝาง มีชื่อเดิมว่า เรือน เป็นชาวเมืองเหนือ ได้ศึกษาเล่าเรียนพระศาสนาจากราชสำนักกรุงศรีอยุธยา และได้รับการแต่งตั้งเป็น พระพากุลเถระ ราชาคณะฝ่ายอรัญวาสี อยู่ ณ วัดศรีอยุธยา และได้แต่งตั้งเป็นพระสังฆราชาเจ้าคณะเมืองสวางคบุรี กลับขึ้นไปจำวัดอยู่ที่วัดพระฝาง แล้วก็ตั้งตนเป็นเจ้าทั้งที่อยู่ในสมณเพศ แต่ผู้คนก็พานับถือ เนื่องจากชาวบ้านนับถือว่าเป็นผู้วิเศษ

หลังจากสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงทราบข่าวเรื่องที่เจ้าพระฝางยกทัพชุมนุมพิษณุโลกได้ และถึงกับส่งกองทัพไปปล้นแย่งชิงข้าวปลาราษฎรลงมาถึงเมืองอุทัยธานี และชัยนาท พระองค์จึงทรงกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกทัพไปปราบในปี พ.ศ. 2313 โดยมีพระยายมราช (บุญมา) เป็นแม่ทัพหน้า กองทัพหน้าของพระยายมราชได้เข้าโจมตีเมืองพิษณุโลกด่านหน้าของเจ้าพระฝาง ซึ่งมีหลวงโกษา (ยัง) คุมกำลังมาตั้งรับอยู่ภายในคืนเดียว แล้วจากนั้นกองทัพหลวงก็ยกไปตีเมืองสวางคบุรี เจ้าพระฝางสู้รบได้ 3 วัน เห็นศึกหน้าเหนือกำลังจึงพาพรรคพวกหลบหนีไปอยู่เมืองเชียงใหม่ ซึ่งในขณะนั้นพม่าปกครองอยู่ กองทัพหลวงจึงยึดเมืองสวางคบุรีได้ และยังได้ลูกช้างเผือกมาอีกด้วย

โดยชุมนุมเจ้าพระฝาง เป็นชุมนุมอิสระสุดท้ายหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกปราบชุมนุมก๊กเจ้าพระฝางได้นั้น นับเป็นการพระราชสงครามสุดท้ายที่ ทำให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงบรรลุพระราชภารกิจสำคัญ ในการรวบรวมพระราชอาณาเขตให้เป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียวดังเดิมหลังภาวะจลาจลเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า ในปี พ.ศ. 2310 และทำให้สิ้นสุดสภาพจลาจลการแยกชุมนุมอิสระภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง และนับเป็นการสถาปนากรุงธนบุรีได้อย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ เมื่อสำเร็จศึกปราบชุมนุมก๊กเจ้าพระฝาง ในปี พ.ศ. 2313[5]

ใกล้เคียง

สภาพจลาจลหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง สภาพแข็งทื่อหลังตาย สภาพนำยวดยิ่ง สภาพพลาสติกข้ามระบบประสาท สภาพให้ซึมผ่านได้ทางแม่เหล็ก สภาพพาสซีฟ สภาพแวดล้อมการสะสมของตะกอน สภาพต้านทานและสภาพนำไฟฟ้า สภาพโตเกินไม่สมส่วน สภาพพรหมจารี