ประวัติ ของ สภาวิศวกร

ในอดีตวิศวกรไทยได้รวมตัวกันภายใต้สถาบันวิชาชีพ คือ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (ว.ส.ท.) ตั้งแต่ พ.ศ. 2486 ต่อมา รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. 2505 ขึ้น เมื่อสภาพเศรษฐกิจ สังคมมีการเปลี่ยนแปลง มีความต้องการวิศวกรมากขึ้น จึงมีการเร่งผลิตวิศวกร เป็นผลให้งานวิศวกรรมมีปัญหาเรื่องคุณภาพงาน จำเป็นต้องมีการปลูกฝังจิตสำนึกทางด้านจรรยาบรรณและมีการพัฒนาวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง ครั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงหลายครั้งจนมีผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของวิชาชีพวิศวกรรม อาทิ เหตุการณ์จากรถบรรทุกแก๊สระเบิดที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2532 ไฟไหม้โรงงาน อาคารถล่มที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก ทบวงมหาวิทยาลัย และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ จึงได้มีการจัดสัมมนาระดมความคิดและได้ข้อสรุปในการจัดตั้ง “ สภาวิศวกร ” รวม 4 ประการคือ

  1. ให้มีสภาวิชาชีพที่สามารถปกครอง ควบคุมและกำกับดูแลกันเอง สภาวิศวกรจึงต้องมาจากการเลือกตั้งของสมาชิก
  2. ให้มีความคล่องตัวในการบริหารงานโดยอิสระจึงต้องมีสถานภาพเป็นนิติบุคคล
  3. ให้สภาวิศวกรมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลควบคุม ส่งเสริม และสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาการประกอบวิชาชีพอย่างต่อเนื่องทันต่อวิทยาการและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
  4. ให้มีการประกอบวิชาชีพด้วยมาตรฐานหนึ่งเดียวไม่ว่าจะเป็นราชการหรือเอกชน และจะไม่มีการยกเว้นสำหรับคนต่างชาติ

ต่อมาได้มีการร่างพระราชบัญญัติวิศวกรเมื่อปี พ.ศ. 2538 โดยคณะบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิทางวิศวกรรม จนในที่สุดพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 จึงได้เกิดขึ้นและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542