ประวัติ ของ สมศักดิ์_เจียมธีรสกุล

ชีวิตช่วงต้น

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เกิดเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2501 ที่กรุงเทพมหานคร มีชื่อเล่นว่า "โต" เป็นบุตรของนายไชยฮวด และนางจุงฮวย แซ่พัว เป็นบุตรชายคนที่ 3 จากจำนวนพี่น้องทั้งหมด 5 คน ได้แก่ นายสมชาย นางสมศรี นายสมศักดิ์ นางสาวสมรักษ์ และนายสมปอง เจียมธีรสกุล บิดาและมารดาเป็นชาวจีนอพยพตระกูลแซ่พัว โดยบิดาประกอบอาชีพเป็นเสมียนในร้านขายวัสดุก่อสร้าง ย่านสะพานขาว ริมคลองผดุงกรุงเกษม มารดาประกอบอาชีพขายอาหารตามโรงเรียน เมื่อแรกเกิด สมศักดิ์มีชื่อเดิมตามสูติบัตรว่า "ซู่คุ้ง แซ่พัว" โดยต่อมาน้าของนางจุงฮวยผู้เป็นมารดา (ตามลำดับญาติของคนจีนเรียกว่า "เหล่าอี๊") จึงตั้งชื่อให้ใหม่ว่า "สมศักดิ์" ในวันที่มารดาได้ไปร่วมงานตรุษจีนของครอบครัว แล้วจึงเปลี่ยนชื่อจากชื่อจีนเป็นชื่อไทยพร้อมกับพี่ชายและพี่สาวเมื่อจะเข้าโรงเรียน โดยพี่ชายคนโต นายสมชาย เดิมชื่อ "ซู่ฮ้ง แซ่พัว" ส่วนพี่สาวคนรอง นางสมศรี ชื่อ "ซู่ฮั้ว แซ่พัว"[2] สมศักดิ์ได้บรรยายเรื่องของครอบครัวภายหลังการเสียชีวิตของมารดาผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวใน พ.ศ. 2560 ว่าครอบครัวมีฐานะยากจนทำให้ต้องย้ายบ้านและโรงเรียนหลายครั้ง[3] สมศักดิ์จบการศึกษาระดับประถมจากโรงเรียนพลับพลาไชยและเข้าศึกษาระดับมัธยมที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยใน พ.ศ. 2514 โดยถือเป็นนักเรียนสวนกุหลาบรุ่นที่ 90 รุ่นเดียวกับเนวิน ชิดชอบ วัฒนา เมืองสุข และวีระ สมความคิด

ระหว่างที่สมศักดิ์เรียนอยู่ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมือง สมศักดิ์ได้เคยดำรงตำแหน่งประธานนักเรียนและเป็นหนึ่งในสาราณียกรจัดทำหนังสือรุ่นซึ่งแจกจ่ายในงานประจำปีของโรงเรียนหรือ "วันสมานมิตร" ประจำปี 2517 ชื่อว่า "ศึก"[4] ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การศึกษา และแนวคิดเกี่ยวกับการจัดการศึกษาระบบใหม่ที่มีเนื้อหาค่อนข้างรุนแรง ทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงในกลุ่มนักเรียนสวนกุหลาบจนเกิดการตะลุมบอนในกลุ่มนักเรียนด้วยกัน [5] หลังเรียนจบสมศักดิ์เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในสาขาประวัติศาสตร์ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เหตุการณ์ 6 ตุลา

สมศักดิ์เป็นหนึ่งในแกนนำนักศึกษาโดยรับหน้าที่เป็นโฆษกบนเวทีปราศรัยระหว่างการชุมนุมขับไล่พระถนอม สุกิตติขจโร ที่ได้กลับเข้ามาบวชให้เดินทางออกจากประเทศไทย เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2519 ผลจากเหตุการณ์ 6 ตุลาทำให้นักศึกษาและประชาชนถูกทำร้ายจนเสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก และเกิดการรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่มีพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าคณะ[6] ซึ่งสมศักดิ์ถูกเจ้าหน้าที่ทหารเข้าควบคุมตัวขณะหลบอยู่ภายในกุฏิสงฆ์ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ข้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อมาสมศักดิ์ถูกดำเนินคดีร่วมกับผู้ต้องหาอีก 18 คน โดยถูกคุมขังในข้อหาหมิ่นพระบรมราชานุภาพและคอมมิวนิสต์เป็นเวลา 2 ปี และได้รับการนิรโทษกรรมเมื่อปี พ.ศ. 2521 ในช่วงที่ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์เป็นนายกรัฐมนตรี

ศึกษาต่อต่างประเทศ

สมศักดิ์กลับเข้าศึกษาในสาขาเดิมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกครั้งภายหลังจากการปล่อยตัว จนจบการศึกษาโดยได้รับปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.) เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง[7] และศึกษาต่อระดับปริญญาเอกในสาขาการเมืองที่มหาวิทยาลัยโมนาช ประเทศออสเตรเลีย โดยทำวิทยานิพนธ์เรื่อง "The Communist Movement in Thailand" [8] จนจบการศึกษาโดยได้รับปริญญา Doctor of Philosophy (Ph.D) [9] เมื่อปี พ.ศ. 2535[10]

ใกล้เคียง

สมศักดิ์ เทพสุทิน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ สมศักดิ์ ศิษย์ชัชวาลย์ สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ สมศักดิ์ ชัยสงคราม สมศักดิ์ สุวรรณสุจริต สมศักดิ์ ขวัญแก้ว สมศักดิ์ พรนารายณ์

แหล่งที่มา

WikiPedia: สมศักดิ์_เจียมธีรสกุล http://botkwamdee.blogspot.com/2014/02/sy-112low.h... http://somsakcoup.blogspot.com http://somsakfootnotes.blogspot.com http://somsakj.blogspot.com http://www.enlightened-jurists.com/video/tag/%E0%B... http://www.noknight.com/data_files/art_palom.htm. http://www.osknetwork.com/modules.php?name=News&fi... http://www.posttoday.com/%E0%B8%AD-%E0%B8%AA%E0%B8... http://prachatai.com/journal/2009/08/25380. http://prachatai.com/journal/2009/08/25401.