งานการเมือง ของ สมานฉันท์_ชมภูเทพ

สมานฉันท์ ชมภูเทพ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดลำพูน 7 สมัย ได้รับเลือกตั้งครั้งแรกในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2518 สังกัดพรรคกิจสังคม และได้รับเลือกตั้งติดต่อกันรวม 4 สมัย ต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2529 เป็นสมัยแรกที่สอบตก ต่อจากนั้นก็ได้รับเลือกตั้ง 3 สมัยติดต่อกัน คือ ในปี พ.ศ. 2531 สังกัดพรรคเอกภาพ และการเลือกตั้ง พ.ศ. 2535 ทั้ง 2 ครั้ง สังกัดพรรคความหวังใหม่ และพรรคชาติพัฒนาตามลำดับ จากนั้นจึงได้ย้ายมาสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็ไม่ได้รับเลือกตั้ง

ต่อมาจึงได้หันมาสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน โดยสามารถเอาชนะผู้สมัครที่ได้รับการสนับสนุนพรรคไทยรักไทย คือ มนตรี ด่านไพบูลย์

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้ง ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง โดยแพ้ให้กับนายสงวน พงษ์มณี จากพรรคเพื่อไทย

เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2556 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดเขาโดยป.ป.ช. ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยัง อัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญา ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2542 มาตรา 97 นายสมาน ชมพูเทพ” เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน กรณีเรียก รับ เงินเป็นค่าตอบแทน ในการจัดซื้อโปรแกรมสื่อการเรียนการสอน มัลติมิเดีย ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ e - Learning เฉลิมพระเกียรติ โดยวิธีพิเศษ จากมูลนิธิ 5 ธันวามหาราช ครั้งที่ 1[4]

เมื่อเดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2558 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดนายสมาน หรือสมาฉันท์ ชมพูเทพ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ลำพูน กับพวก กรณีกล่าวหาดำเนินการขุดลอกร่องน้ำทางเรือเดินในแม่น้ำปิงโดยไม่ชอบ และผู้ว่าราชการจังหวัดรู้ว่า อบจ.ลำพูน กระทำโดยไม่ชอบด้วยหน้าที่ ไม่แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อทำการสอบสวนตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2550 [5]