ประวัติและผู้แต่ง ของ สมุทรโฆษคำฉันท์

สมุทรโฆษคำฉันท์มีผู้แต่งสามท่าน ซึ่งแต่งในยุคสมัยต่างๆ กัน ดังนี้

  • พระมหาราชครู แต่งขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา แต่แต่งตั้งปี พ.ศ. ใดไม่ปรากฏ คาดว่าน่าจะอยู่ในราว พ.ศ. 2200 ท่านได้แต่งไว้ 1,252 บท นับตั้งแต่ต้น จนถึงตอน "งานสยุมพรพระสมุทรโฆษกับนางพินทุมดี" ด้วยกาพย์ฉบัง ที่ว่า
พระเสด็จด้วยน้องลีลาสลุอาศรมอาส-
นเทพลบุตรอันบนฯ
  • สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงพระราชนิพนธ์ด้วยพระองค์เอง 205 บท แต่ไม่จบเรื่อง ก็สวรรคตเสียก่อน ทรงแต่งตั้งแต่ตอน "พระสมุทรโฆษและนางพินทุมดีไปใช้บน" (แก้บน) จนถึง ตอนที่พิทยาธรสองตนรบกัน (ตนหนึ่งตกลงไปในสวน) แต่ยังรบไม่จบ ทรงแต่งจนถึงสัททุลวิกกีฬิตฉันท์ 19 ที่ว่า
แต่นี้พี่อนุช(ะ)ถึงแก่กรรม(ะ)พิกลเรียมฤๅจะยากยล พธู
ตนกูตายก็จะตายผู้เดียวใครจะแลดูโอ้แก้วกับตนกู ฤเห็นฯ
  • สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทรงพระนิพนธ์ต่อจากนั้นจนจบเรื่อง นับได้ 861 บท หลังจากที่ค้างอยู่นานถึง 160 ปี (นับจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคต เมื่อ พ.ศ. 2231) เนื่องจากไม่มีผู้ใดกล้าแต่งต่อ โดยได้ทรงพระนิพนธ์เป็นสองช่วง และสุดท้ายก็จบเรื่อง เมื่อ พ.ศ. 2392 (จ.ศ. 1211) ดังโคลงสี่สุภาพท้ายเรื่องที่ 4 บท ที่ทรงเล่าไว้ชัดแจ้ง ดังนี้
จวบจุลศักราชได้พรรษา สหัสแฮ
สองสตพรรษเอกาทศอ้าง
กุกกุฏสังวัจฉรากติกมาส หมายเฮย
อาทิตย์ดลฤถีข้างปักษ์ขึ้นปัญจมีฯ
รังสรรค์ฉันท์เสร็จสิ้นสุดสาร
สมุทรโฆษต่อตำนานเนิ่นค้าง
รจิตเรื่องบิพิสดารอดีตเหตุ แสดงเฮย
โดยพุทธพจนรสอ้างอรรถแจ้งแถลงธรรมฯ

(จุลศักราช 1211 ปีระกา เดือนสิบสอง วันอาทิตย์ ขึ้น 5 ค่ำ)