ประวัติ ของ สมเดช_ยนตรกิจ

สมเดชหัดมวยครั้งแรกกับครูกู้ ควรตั้ง และครูผวน กาญจนากาศ จากนั้นเข้ามาชกมวยในกรุงเทพฯ โดยมาอยู่ที่ค่ายสมานฉันท์ของครูฉันท์ สมิทเวช ในชื่อสมเดช สมานฉันท์ ขึ้นชกครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2491 ชนะน็อค ทวี นฤภัย ยกแรก และชกคู่ชกแพ้น็อคอีกหลายคน จนกระทั่งน็อกไพศาล พระขรรค์ชัยไม่ได้ จึงถูกแฟนมวยในยุคนั้นวิจารณ์ว่าหมัดไม่หนักจริง สมเดชจึงย้ายไปอยู่ค่ายยนตรกิจของครูตันกี้ ยนตรกิจ ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านการฝึกมวยหมัด

เมื่อย้ายค่ายแล้ว สมเดชขึ้นชกชนะน็อคคู่ชกด้วยหมัดอีกหลายครั้ง จนได้รับคัดเลือกเข้าชกในมวยรอบรุ่น 7 สิงห์ทอง ซึ่งสมเดชคว้าแชมป์มาครองได้ การชกที่สร้างชื่อเสียงให้สมเดชมากที่สุดคือ ชนะน็อค ประยุทธ์ อุดมศักดิ์ ยก 2

เมื่อชกมวยไทย ชนะคู่ชกด้วยหมัดหลายครั้ง ผู้สนับสนุนจึงให้สมเดชหันมาชกมวยสากลดูบ้าง ขึ้นชกครั้งแรก ชนะน็อค ถวัลย์ วงศ์เทเวศร์ ยก 2 ต่อมาจึงได้ชิงแชมป์ OPBF รุ่นเวลเตอร์เวทที่ว่าง ชนะคะแนน ฮาชิโร ทัตสุมิ ที่เวทีราชดำเนินอย่างพลิกความคาดหมายเพราะตอนนั้นสมเดชชกมวยสากลมาเพียงสามครั้งเท่านั้น ฝ่ายทัตสุมิข้องใจ ดึงสมเดชไปชกแก้มือที่ญี่ปุ่น สมเดชก็เป็นฝ่ายชนะคะแนนได้อีก

สมเดชไปชกป้องกันแชมป์ OPBF ที่ญี่ปุ่นอีก 2 ครั้ง จึงได้ขึ้นชกกับ วอลลี่ ทอม รองแชมป์โลกเพื่อหวังเข้าอันดับโลก แต่แพ้คะแนนไปขาดลอย จนทัตสุมิได้ครองแชมป์ OPBF รุ่นมิดเดิลเวท และติดต่อสมเดชไปชิงแชมป์ด้วย คราวนี้สมเดชเป็นฝ่ายชนะน็อค ได้ครองแชมป์ OPBF พร้อมกันสองรุ่น จากนั้นจึงสละแชมป์รุ่นมิดเดิลเวทไป เหลือแชมป์รุ่นเวลเตอร์เวทรุ่นเดียว สมเดชยังชกชนะอย่างต่อเนื่อง จึงได้ชกกับยอร์จ บาร์น รองแชมป์โลกเพื่อลุ้นเข้าอันดับโลกอีกครั้ง แต่สำเร็จอีกคราวนี้สมเดชเป็นฝ่ายแพ้น็อคในยกที่ 9 แบบหมดทางสู้

หลังจากนั้น การชกของสมเดชเริ่มตกต่ำลง จนเสียแชมป์ให้กับนักมวยญี่ปุ่น กลับมาเมืองไทย ขึ้นชกมวยสากลกับสามารถ ศรแดง ก็เป็นฝ่ายแพ้คะแนน สมเดชหยุดชกไปหลายเดือน จึงขึ้นชกมวยไทยกับดาวทอง สิงหพัลลภ แต่ก็แพ้น็อคในยกที่ 2 อีก หลังจากนั้นไม่นาน สมเดชเป็นหนองในขั้วตับจึงแขวนนวม ก่อนที่จะเป็นทหาร ติดยศสิบโทในเวลาต่อมา[1] ต่อมาได้ลาออกจากทหาร ไปประกอบอาชีพอีกหลายอย่างทั้ง คนส่งของ ทำงานในสายการบิน และหน่วยรักษาความปลอดภัย เป็นต้น

สมเดชสมรสกับ สมนึก ธานี เมื่อเขามีอายุได้ 21 ปี และมีลูก 3 คน ครั้งหนึ่งลูกหลานของเขาได้ชักชวนให้ไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกา แต่เขาได้ปฏิเสธโดยประสงค์ที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขที่ประเทศไทยแทน และมีการออกงานสังคมในบางครั้งโดยเฉพาะกับมูลนิธินักมวยเก่า ช่วงปลายชีวิตเริ่มมีอาการเจ็บป่วยก่อนที่จะเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลทหารผ่านศึก ก่อนที่จะเสียชีวิตอย่างสงบในวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 [2]

ใกล้เคียง