ประวัติ ของ สะดึง

พระพุทธศาสนา

ในสมัยพระพุทธกาลการเย็บผ้าต้องเอาไม้สะดึงมาขึงผ้าให้ตึงเสียก่อน แล้วจึงเย็บเพราะช่างยังไม่มีความชำนาญ[1] และเครื่องมือในการเย็บก็ยังไม่เพียงพอ การทำจีวรหรือกฐิน ถ้าภิกษุทำเอง ก็จัดเป็นงานเอิกเกริก เช่นตำนานกล่าวไว้ว่า "การเย็บจีวรนั้น พระเถรานุเถระต่างมาช่วยกัน เป็นต้นว่า พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ แม้สมเด็จพระบรมศาสดาก็เสด็จลงมาช่วย ภิกษุสามเณรอื่น ๆ ก็ช่วยขวนขวายในการเย็บจีวร อุบาสกอุบาสิกาก็จัดหาน้ำดื่มเป็นต้น มาถวายพระภิกษุสงฆ์ มีองค์พระสัมมาสัมพุทธะเป็นประธาน โดยนัยนี้ การเย็บจีวรแม้โดยธรรมดา ก็เป็นการต้องช่วยกันทำหลายผู้หลายองค์"[2]

ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงอนุญาตให้ภิกษุใช้สะดึง โดยตรัสว่า

... ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตไม้สะดึง เชือกผูกไม้สะดึง ให้ผูกลงในที่นั้น ๆ เย็บจีวรได้ ภิกษุทั้งหลายขึงไม้สะดึงในที่ไม่เรียบ ไม้สะดึงหัก ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงขึงไม้สะดึง ในที่ไม่เสมอ รูปใดขึง ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลายขึงไม้สะดึงบนพื้นดิน ไม้สะดึงเปื้อนฝุ่น ... ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้หญ้ารอง ขอบไม้สะดึงชำรุด ... ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราอนุญาตให้ดามขอบเหมือนผ้าอนุวาต ไม้สะดึงไม่พอ ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตไม้สะดึงเล็ก ไม้ประกับ ซี่ไม้สำหรับสอดเข้าในระหว่าง จีวรสองชั้น เชือกรัดสะดึงในกับสะดึงนอก ด้ายผูกจีวรลงกับสะดึงใน ครั้นขึงแล้ว จึงเย็บจีวร ด้ายเกษียนภายในไม่เสมอ ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ให้ทำหมาย เส้นด้ายคด ...ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเส้นด้าย ตีบรรทัด ฯ