ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสังฆทานในปัจจุบัน ของ สังฆทาน

ปัจจุบันในประเทศไทย มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการทำบุญด้วยการถวายสังฆทานมาก โดยส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าสิ่งของที่จะนำมาถวายสังฆทานนั้นต้องซื้อเป็นชุดไทยธรรมถังสีเหลืองสำเร็จรูปที่บรรจุสิ่งของจากร้านสังฆภัณฑ์ หรือจะต้องนำสิ่งของที่ตนตั้งใจถวายใส่บรรจุภัณฑ์หรือภาชนะที่มีสีเหลือง แล้วนำสิ่งเหล่านั้นไปถวายพระสงฆ์แล้วจะเป็นสังฆทานที่ถูกต้อง

ปรากฏการณ์ถังสีเหลือง

ในปัจจุบัน มักเรียกกันอย่างเข้าใจผิดว่าการถวายสังฆทานคือการถวายสิ่งของโดยใส่ถังหรือบรรจุภัณฑ์สีเหลือง แต่ความจริงแล้วสังฆทานนั้นคือการถวายเครื่องอุปโภคบริโภคแก่หมู่พระสงฆ์โดยสิ่งของนั้นจะเป็นสิ่งของชนิดใดก็ได้

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการถวายสังฆทานในปัจจุบัน มีผู้กล่าวว่าเกิดจากปรากฏการณ์ "ถังสีเหลือง"[3] โดยกล่าวว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวมีที่มาจากการที่ร้านค้าสังฆภัณฑ์จัดสินค้าเป็นถังไทยธรรมที่บรรจุสิ่งของเครื่องใช้นำมาวางจำหน่ายโดยมีการใช้บรรจุภัณฑ์สีเหลืองเพื่อให้เป็นที่ติดตาของผู้ซื้อ และบางร้านมีการติดสัญลักษณ์ร้านค้าบนบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพของถังสีเหลืองให้แก่ผู้ซื้ออีกด้วย โดยเรียกถังสีเหลืองดังกล่าวว่าเป็น "ถังสังฆทาน" และปรากฏว่าพุทธศาสนิกชนนิยมซื้อสินค้าดังกล่าวนำไปถวายพระสงฆ์ เพราะมีความสะดวกที่ไม่ต้องไปจัดหาสิ่งของด้วยตนเอง และความสวยงามของการจัดรูปแบบสิ่งของในตัวบรรจุภัณฑ์

และเนื่องจากการที่ถังสีเหลืองดังกล่าวมีผู้นิยมซื้อเพื่อนำไปถวายพระสงฆ์ จึงทำให้สินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าสำคัญของร้านค้าต่าง ๆ ห้างดิสเคาท์สโตร์ หรือแม้ในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ จนในระยะหลังเริ่มมีร้านค้าบางร้านเอาเปรียบผู้ซื้อโดยจัดสิ่งของในถังสีเหลืองที่ไม่ได้คุณภาพหรือน้อยกว่าความเป็นจริง เช่น การทำให้สิ่งของดูมีจำนวนมากโดยใส่ขวดน้ำหรือกระดาษลังในก้นถังเพื่อถ่วงน้ำหนัก และปรากฏว่ามีการกระทำเช่นนี้มานานแล้วนับสิบปีโดยไม่มีผู้ออกมาร้องเรียน (เนื่องจากสินค้าถังสีเหลืองส่วนใหญ่จะนำไปถวายพระสงฆ์ โดยที่ผู้ซื้อไม่เคยแกะถังสีเหลืองเพื่อตรวจสอบ)

จนในช่วงปี 2548 เริ่มมีรายการโทรทัศน์ออกข่าวเปิดโปงการเอาเปรียบดังกล่าวและมีสื่อมวลชนและองค์กรต่าง ๆ เสนอข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวมาเป็นระยะ จนในที่สุดสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จึงได้ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 23 (พ.ศ. 2550) เรื่อง ให้ชุดสังฆทานและชุดไทยธรรมเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก[4] เพื่อควบคุมชุดสังฆทานและชุดไทยธรรมที่ขายตามรานค้าและร้านสังฆภัณฑ์ต่าง ๆ ให้มีคุณภาพต่อไป แต่ก็ยังคงมีผู้ค้าบางรายแอบนำสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพมาใส่ในถังเหลืองเพื่อจำหน่ายอยู่บ้าง

ปรากฏการณ์ดังกล่าว ทำให้ "ถังสีเหลือง" เป็นสิ่งของแรก ๆ ที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยส่วนใหญ่คิดถึง เมื่อจะไปทำบุญถวายจตุปัจจัยตามวัดต่าง ๆ หรืออาจกล่าวได้ว่า "การทำบุญด้วยถังสีเหลือง" เป็นสิ่งคู่กันอย่างแยกไม่ออก และมักเรียกรวมกันว่า การถวายถังสังฆทาน ซึ่งยังคงก่อปัญหาความลำบากใจให้แก่พระสงฆ์ตามวัดต่าง ๆ อยู่จนถึงปัจจุบัน[5] เพราะยังคงมีร้านค้าบางร้านใช้สินค้าราคาถูกหรือไม่ได้คุณภาพบรรจุลงในถังเหลืองออกจำหน่ายอยู่ ดังนั้นการทำบุญให้เป็นสังฆทานที่มีคุณภาพโดยแท้จริงควรซื้อหาสินค้าที่จะนำไปถวายโดยพิจารณาจากความต้องการและประโยชน์ของพระสงฆ์ มากกว่าประโยชน์คือความสะดวกของผู้ถวาย ดังที่มีผู้แนะนำการถวายสังฆทานว่าควรประกอบไปด้วย[6]

  1. ปุพพเจตนา หรือ มีความตั้งใจในการทำบุญโดยการเลือกซื้อสิ่งของที่เป็นประโยชน์แท้จริงแก่พระสงฆ์ เช่นของมีคุณภาพ หรือสิ่งของที่พระสงฆ์ต้องการ
  2. มุญฺจเจตนา คืออาการที่ถวายเป็นสังฆทานถูกต้อง เช่น ถวายเข้ากองกลางของวัด หรือถวายแก่ตัวแทนของพระสงฆ์เพื่อนำสิ่งของไปแจกจ่าย หรือเผดียงสงฆ์ไม่เลือกระบุตัวพระสงฆ์ผู้รับ โดยการถวายดังกล่าวควรทำเจตนาในการถวายให้มุ่งตรงต่อหมู่สงฆ์ ไม่ใช่ถวายแก่บุคคล
  3. อปราปรเจตนา[7] เมื่อถวายแล้วก็ทำจิตใจให้เป็นบุญ นึกถึงการถวายสังฆทานดังกล่าวเมื่อใดก็มีความยินดีไม่เกิดความเสียดาย