ประวัติพระโสปากะ ของ สามเณรปัญหา

เนื้อความของสามเณรปัญหามีขนาดสั้น และกล่าวถึงเพียงข้อธรรมอันเป็นคำถาม-ตอบทั้ง 10 ข้อ มิได้ระบุถึงที่มาหรือประวัติของท่านโสปากะ ขณะที่ปรมัตถโชติกา อันเป็นอรรถกถาอธิบายขุททกปาฐะก็ไม่ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับท่านแต่อย่างใด แต่ประวัติของพระโสปากะกลับไปปรากฏในปรมัตถทีปนีอรรถกถาแห่งเถรคาถา ซึ่งอธิบายคาถาของพระโสปาะ เพื่อครั้งอุปสมบทแล้ว (ดู โสปากเถรคาถาจ สัตตกนิบาต ในขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา ของพระสุตตันตปิฎก) นอกจากนี้ ยังมีพระโสปากะอีกท่านในจตุตถวรรค ซึ่งมีชาติกำเนิดคล้ายคลึงกัน คือกำเนิดในป่าช้า (ดู โสปากเถรคาถา จตุตถวรรค ในขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา ของพระสุตตันตปิฎก)

อรรถกถาพรรณนาว่า ท่านเกิดและเติบโตในป่าช้าในเมืองราชคฤห์ จึงได้ชื่อ โสปากะ อย่างไรก็ตาม "อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ท่านเกิดในตระกูลพ่อค้า ส่วนคำว่าโสปากะ เป็นแต่เพียงชื่อ คำนั้นผิดจากบาลีในอุทาน เพราะกล่าวไว้ว่า เมื่อถึงภพสุดท้าย เราเกิดในกำเนิดโสปากะ ดังนี้" [1]

ในอรรถกถาของโสปากเถรคาถา ได้พรรณนาเรื่องราวของท่านไว้ว่า เมื่อเกิดได้ 4 เดือนบิดาท่านได้สิ้นชีวิตลง ผู้เป็นอาจึงเลี้ยงไว้ ต่อมาเมื่อเจริญวัยได้ 7 ขวบ ผู้เป็นอาโกรธว่า ทะเลาะกับลูกของตน จึงนำตัวไปยังป่าช้า แล้วใช้เชือกผูกมือทั้งสองข้างเข้าด้วยกันอย่างแน่นหนาติดกับร่างของคนตาย แล้วจากไปหวังจะให้สุนัขจิ้งจอกกินเป็นอาหาร อย่างไรก็ตาม ด้วยบุญบารมีของท่านที่จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในชาตินี้ สัตว์ร้ายจึงไม่อาจทำอันตรายแก่ท่านได้ [2]

ในราตรีนั้น "พระศาสดาทรงตรวจดูเวไนยสัตว์ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ ทรงเห็นอุปนิสัยแห่งพระอรหัตอันโพลงอยู่ในภายในหทัยของเด็ก จึงทรงแผ่พระโอภาสทำให้เกิดสติแล้วตรัสอย่างนี้ว่ามาเถิดโสปากะ อย่ากลัว จงแลดูตถาคต เราจะยังเธอให้ข้ามพ้นไป ดุจพระจันทร์พ้นจากปากราหูฉะนั้น.ทารกตัดเครื่องผูกให้ขาดด้วยพุทธานุภาพ ในเวลาจบคาถา ได้เป็นพระโสดาบัน ได้ยืนอยู่ตรงหน้าพระคันธกุฎี" [3]

ต่อมามารดาของท่านไม่เห็นบุตร จึงไต่ถามเอาจากผู้เป็นอา ครั้นอาไม่ยอมตอบจึงไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาค ด้วยเข้าใจว่า "เขาเล่าลือว่าพระพุทธเจ้าทรงรู้อดีต อนาคต และปัจจุบัน ถ้ากระไรเราเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลถามความเป็นไปแห่งบุตรของเรา จึงได้ไปยังสำนักของพระศาสดา" ครั้นแล้วเมื่อมารดาได้พบสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงได้แสดงธรรมจนนางสำเร็จพระโสดาบัน ส่วนท่านโสปากะกุมาร ได้สำเร็จพระอรหันต์ ครั้งนั้น " ฝ่ายมารดาก็ได้เห็นบุตร ร่าเริงดีใจ ได้ฟังว่าบุตรนั้นเป็นพระขีณาสพ จึงให้บวชแล้วก็ไป" [4]