ประวัติ ของ สายพระป่าในประเทศไทย

พระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกายตั้งแต่ยุคแรกจะศึกษาคันถธุระในช่วงเข้าพรรษา พอถึงหน้าแล้งจึงออกจาริกไปฝึกวิปัสสนาธุระตามที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะในภาคอีสานมีพระอาจารย์ดี พนฺธุโล และพระอาจารย์ม้าว เทวธมฺมี เป็นกำลังสำคัญ

ต่อมาศิษย์พระอาจารย์ม้าวคือพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ขณะยังเป็นพระครูวิจิตรธรรมภาณี ได้เข้ามาศึกษากรรมฐานกับพระปัญญาพิศาลเถร (สิงห์) วัดปทุมวนาราม แล้วจำพรรษาที่วัดปทุมวนารามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2439 ในระหว่างนั้นพระอาจารย์หนู ฐิตปญฺโญ และพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ได้เข้ามาจำพรรษาที่วัดปทุมวนารามด้วย เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมและอบรมกรรมฐานโดยมีพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์) เป็นพระอาจารย์ แล้วจึงกลับไปช่วยกันเผยแผ่ธรรมที่ภาคอีสานดังเดิม[2]

เมื่อพระอาจารย์หนู ฐิตปญฺโญ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม พระอาจารย์เสาร์จึงกลายเป็นผู้นำหมู่คณะพระป่าเพียงองค์เดียว ระหว่างนั้นพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ได้มาเป็นศิษย์พระอาจารย์เสาร์ และกลายเป็นกำลังสำคัญช่วยพระอาจารย์เสาร์เผยแผ่พระศาสนา[3] เมื่อพระอาจารย์เสาร์มรณภาพลงในปี พ.ศ.2486 พระอาจารย์มั่นจึงเป็นครูบาจารย์ใหญ่อบรมสั่งสอนหมู่คณะสายนี้ต่อ[4]