ประวัติ ของ สารเสพติด

กลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 มีการนำเอาโบรไมด์ (Bromide) มาใช้เป็นยาระงับประสาทและรักษาโรคลมชัก ซึ่งได้รับความนิยมมากพอ ๆ กับยาวาเลียม (Valium) และยาริเบรียม (Librium) ในปัจจุบัน แต่โบรไมด์สะสมในร่างกาย ทำให้เกิดอาการวิกลจริต และทำลายสมองอย่างถาวรด้วย ในระยะใกล้เคียงกันก็มีผู้ผลิตยาบาบิทเชอริท (Barbiturate) และยาสงบประสาทตัวอื่น ๆ และได้รับความนิยมใช้อย่างแพร่หลายเช่นกัน โดยผู้ใช้ไม่ทราบถึงฤทธิ์ในการเสพติดของยาเหล่านี้ ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีผู้พบโคเคนและกัญชาซึ่งมีฤทธิ์ทำให้จิตใจสบายโคเคนพบว่ามีประโยชน์ทางการรักษาโรคด้วยโดยใช้เป็นยาชาเฉพาะที่ ดังนั้นโคเคนจึงเป็นที่นิยมใช้เป็นผลให้มีการเสพติดโคเคน

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แอมเฟตามีนถูกนำมาใช้ในกองทหารญี่ปุ่น เยอรมัน อเมริกัน และอังกฤษ เพื่อให้ร่างกายมีกำลังกระฉับกระเฉงอยู่ตลอดเวลา พอหลังสงครามยาซึ่งกองทัพญี่ปุ่นกักตุนไว้มาก็ทะลักสู่ตลาด ทำให้ประชาชนชาวญี่ปุ่นใช้ยากันมาก ในปี ค.ศ. 1955 คาดว่ามีชาวญี่ปุ่นติดแอมเฟตามีนราวร้อยละ 1 ระหว่าง ค.ศ. 1960-1970 ในประเทศสวีเดนมีการใช้ยา Phenmetrazine (Preludin) ซึ่งคล้ายแอมเฟตามีน ฉีดเข้าหลอดเลือดดำด้วย ในสหรัฐเมริกาพวกฮิปปี้ซึ่งเคยนิยมใช้ แอลเอสดี (LSD) หรือ Lysergic Acid Diethylamide ก็ค่อย ๆ หันมาใช้แอมเฟตามีนฉีดเข้าหลอดเลือดดำ เช่นกัน

ระหว่างปี ค.ศ. 1960-1970 ยาหลอนประสาทเริ่มถูกนำมาใช้และใช้มากหลัง ค.ศ. 1970 ผู้เสพส่วนใหญ่เป็นชาวอเมริกันวัยรุ่นที่มีฐานะทางเศรษฐกิจปานกลางโดยเริ่มจาก แอลเอสดี ซึ่ง Hofmanเป็นผู้ค้นพบในปี ค.ศ. 1953 เนื่องจากแอลเอสดีทำให้เกิดอาการคล้าย วิกลจริต จึงมีนักจิตวิเคราะห์บางคนนำมาใช้เพื่อการรักษาผู้ป่วยด้วย เพราะคิดว่ายานี้จะช่วยกำจัด "Repression" ให้หมดไป ด้วยเหตุที่ยานี้ผลิตง่ายปัจจุบันจึงเป็นปัญหามากในอเมริกา