อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ของ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา_(ประเทศไทย)

พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 บัญญัติให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นส่วนราชการระดับกรมในสำนักนายกรัฐมนตรีโดยเป็นส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี และมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 62 แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 ดังนี้

  1. รับผิดชอบในงานธุรการของคณะกรรมการกฤษฎีกาและคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย และศึกษาและรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับงานของคณะกรรมการกฤษฎีกาและคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย
  2. พิจารณาและจัดทำร่างกฎหมายตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย และเสนอความเห็นเกี่ยวกับการให้มีหรือแก้ไขปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมาย
  3. ช่วยเหลือและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการร่างกฎหมายแก่หน่วยงานของรัฐ
  4. ให้ความเห็นหรือปฏิบัติงานอื่นอันเกี่ยวกับกฎหมายให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือตามที่รัฐบาลต่างประเทศหรือสถาบันระหว่างประเทศร้องขอ
  5. ฝึกอบรมและพัฒนาข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและเจ้าหน้าที่ของรัฐในด้านกฎหมายและการร่างกฎหมาย รวมทั้งการเผยแพร่ทำความเข้าใจในด้านกฎหมายแก่บุคคลทั่วไป
  6. ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาหลักกฎหมายและการบริหารราชการแผ่นดิน
  7. จัดพิมพ์ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อเผยแพร่ เว้นแต่เรื่องที่เป็นความลับ
  8. จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับผลงานและอุปสรรคในการดำเนินงานของคณะกรรมการกฤษฎีกาและคณะกรรมการพัฒนากฎหมายเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
  9. ศึกษาและรวบรวมข้อมูล รวมทั้งจัดให้ได้มาซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับระบบกฎหมายไทยและระบบกฎหมายต่างประเทศ และงานวิจัยกฎหมายหรือวิชาอื่นที่เกี่ยวกับกฎหมายทั้งของไทยและต่างประเทศ เพื่อประโยชน์แก่การปฏิบัติงานของคณะกรรมการกฤษฎีกาและคณะกรรมการพัฒนากฎหมายตามพระราชบัญญัตินี้

นอกจากนี้ กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2545[5] ได้บัญญัติให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีภารกิจเกี่ยวกับการจัดทำกฎหมาย การใช้กฎหมายและการพัฒนากฎหมายให้ถูกต้อง สร้างความเป็นธรรมและส่งเสริมการพัฒนาประเทศและประโยชน์สุขของประชาชน ตลอดจนพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย โดยให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

  1. พิจารณาและจัดทำร่างกฎหมายตามที่คณะรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย และพิจารณาเสนอความเห็นให้มีการแก้ไข ปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมาย รวมทั้งช่วยเหลือหน่วยงานของรัฐในการจัดทำร่างกฎหมาย
  2. ให้ความเห็นทางกฎหมายแก่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐ
  3. งานประสานการนิติบัญญัติ โดยการตรวจสอบดูแลงานกฎหมายของประเทศและแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องในการเสนอกฎหมาย รวมทั้งการช่วยเหลืองานด้านกฎหมายในชั้นรัฐสภา
  4. จัดทำคำแปลกฎหมาย ให้ความเห็นทางกฎหมายเกี่ยวกับการกู้เงินและให้คำปรึกษาหรือปฏิบัติงานอื่นอันเกี่ยวกับกฎหมายให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือตามที่รัฐบาลต่างประเทศหรือสถาบันระหว่างประเทศร้องขอ
  5. วิจัยและพัฒนากฎหมาย โดยตรวจสอบสภาพปัญหาของประเทศและของสังคม แล้วทำการศึกษาวิจัยเพื่อเสนอร่างกฎหมายใหม่หรือแก้ไขกฎหมายเดิม
  6. การพัฒนาหลักกฎหมายปกครองเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติราชการ และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปฏิบัติราชการ รวมทั้งรับผิดชอบกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
  7. ทำหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูลกฎหมายกลาง โดยการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องแล้วให้บริการค้นคว้าแก่รัฐบาล รัฐสภา หน่วยงานของรัฐและประชาชน
  8. ดำเนินการพัฒนานักกฎหมายภาครัฐ เพื่อให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน
  9. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

ใกล้เคียง

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ไทย) สำนักพระราชวัง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานสอบสวนกลาง สำนักนายกรัฐมนตรี (ประเทศไทย) สำนักงานราชบัณฑิตยสภา สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ สำนักข่าวไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

แหล่งที่มา

WikiPedia: สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา_(ประเทศไทย) http://www.Krisdika.go.th http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/0010259... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2551/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2551/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/E/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/E/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/E/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/...