เครื่องหมายราชการ ของ สำนักงานอัยการสูงสุด_(ประเทศไทย)

กรมอัยการ ได้แยกออกจากกระทรวงมหาดไทยไปเป็นส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวง และได้เปลี่ยนชื่อจาก “กรมอัยการ” ไปเป็น “สำนักงานอัยการสูงสุด” ตามประกาศ    คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 47 ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงระบบการบริหารงานยุติธรรมในส่วนที่เกี่ยวกับงานอัยการให้มีความเป็นอิสระ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ยิ่งขึ้น และเพื่อมิให้อิทธิพลทางการเมืองก้าวก่ายการดำเนินคดี ซึ่งจะทำให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชนโดยส่วนรวมยิ่งขึ้น

การที่มีกฎหมายเปลี่ยนสถานภาพกรมอัยการไปเป็นสำนักงานอัยการสูงสุดดังกล่าวข้างต้น ทำให้ข้าราชการฝ่ายอัยการไม่อาจใช้เครื่องหมายแสดงสังกัดกระทรวงมหาดไทยซึ่งเคยใช้อยู่แต่เดิมได้ต่อไป และสำนักงานอัยการสูงสุดยังไม่มีเครื่องหมายราชการของตนเองโดยเฉพาะ จึงจำเป็นต้องจัดทำเครื่องหมายราชการและเครื่องหมายแสดงสังกัดขึ้นโดยด่วน

สำนักงานอัยการสูงสุดได้จัดให้มีการประชุมข้าราชการอัยการขึ้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2534 เพื่อพิจารณาจัดทำเครื่องหมายราชการของสำนักงานอัยการสูงสุดขึ้น

เครื่องหมายรูป “พระไพศรพณ์” ได้นำขึ้นมาพิจารณาเป็นลำดับแรก เพราะข้าราชการอัยการ    ได้ใช้เครื่องหมายนี้ ประดับบนอินทรธนูเป็นเครื่องหมายแสดงความเป็นอัยการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 แต่ก็ไม่    อาจนำ “รูปพระไพศรพณ์” มาใช้เป็นเครื่องหมายราชการและเครื่องหมายสังกัดของสำนักงานอัยการสูงสุดได้ เพราะแม้จะได้ใช้มาเป็นเวลานานกว่า 30 ปี ก็ยังมิได้มีการประกาศใช้ “รูปพระไพศรพณ์” เป็นเครื่องหมายราชการของกรมอัยการ และเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2513 ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี กำหนดเครื่องหมายราชการของกรมสารวัตรทหารบก กองทัพบก กระทรวงกลาโหม เป็นรูป “ท้าวกุเวร” หรือ  “ท้าวเวสสุวัณ” ซึ่งตามรูปและตามตำนานเป็นเทพองค์เดียวกับ“พระไพศรพณ์”

ในที่ประชุมได้มีการเสนอ แนวความคิด และเครื่องหมายต่างๆ มากมายหลายอย่างแต่ในความหลากหลายนั้นมีสิ่งซึ่งเป็นแนวความคิดร่วมกันอยู่สองประการ

              ประการแรก คือ การรักษากฎหมาย

              ประการที่สอง คือ การเป็นทนายแผ่นดิน

              รูปภาพที่แสดงแนวความคิดประการแรก ก็คือตราชั่ง หรือตราชู ซึ่งเป็นเครื่องหมายสากลของนักกฎหมายทั่วโลก

              รูปภาพที่แสดงแนวความคิดประการที่สอง ก็คือ ตราแผ่นดิน

จากแนวความคิดสองประการนี้ ก็ได้ปรากฏเป็นแนวความคิดร่วมกันในเบื้องต้นว่า เครื่องหมายราชการของสำนักงานอัยการสูงสุดจะประกอบด้วยรูป พระมหาพิชัยมงกุฎ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตราแผ่นดิน    อยู่บนรูปตราชั่ง ซึ่งเป็นเครื่องหมายของนักกฎหมาย

รูปพระมหาพิชัยมงกุฎได้ใช้เป็นเครื่องหมายสังกัดของสำนักพระราชวัง สำนักราชเลขาธิการ และเป็นส่วนประกอบสำคัญของเครื่องหมาย กองทหารต่างๆ สมาคมและสภาในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิ รัฐวิสาหกิจ เช่น การสื่อสารแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย สถาบันการศึกษา ฯลฯ

ตราชั่งได้ใช้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายกระทรวงยุติธรรม สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน สภาทนายความ และสถาบันต่างๆทางกฎหมาย

มีธงประจำตำแหน่งข้าราชการ ธงหนึ่ง มีรูปมงกุฎซึ่งมีโบว์และรูปตราชู รูปวงกลม ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดต้องระมัดระวังมิให้เครื่องหมายไปใกล้เคียงกัน ได้มีท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่งให้ดูภาพ พระแว่นสุริยกานต์ ซึ่งเป็นของใช้ประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ผู้ทรงเคยเป็นหลวงยกกระบัตร เมืองราชบุรี ทรงใช้เป็นแว่นขยายสำหรับทรงพระอักษร และทรงใช้สำหรับจุดไฟจากแสงพระอาทิตย์ กับอีกภาพหนึ่งเป็นภาพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องรบ ทรงดาบ พระหัตถ์ขวาทรงถือช่อชัยพฤกษ์ เป็นภาพเมื่อประกาศสงครามโลกครั้งที่ 1 และได้รับชัยชนะ ท่านได้ให้คำแนะนำว่าน่าจะนำของสองสิ่งนี้ ประกอบเพิ่มเข้าเพื่อเป็นสิริมงคล และเพื่อให้แตกต่างจากเครื่องหมายอื่น จะได้เป็นเครื่องหมายเฉพาะของอัยการ

              ดังนั้นเครื่องหมายราชการของสำนักงานอัยการสูงสุดจึงประกอบด้วยรูปดังนี้

              1. พระมหาพิชัยมงกุฎ

              2. ตราชู

              3. พระแว่นสุริยกานต์4. พระขรรค์

              5. ช่อชัยพฤกษ์

ระหว่างที่ดำเนินการออกแบบเครื่องหมายนี้อยู่ สำนักราชเลขาธิการได้ทราบข่าวจึงได้มีหนังสือสอบถามมายังสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดก็ได้ชี้แจ้งไปให้ทราบ ต่อมาสำนักงานอัยการสูงสุด ได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาเครื่องแบบข้าราชการอัยการและระเบียบการแต่ง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2534 ไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ซึ่งคณะรัฐมนตรีก็ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว แต่ได้ปรากฏเหตุขัดข้องและได้มีการขอให้สำนักงานอัยการสูงสุดทบทวนใหม่

ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 สำนักงานอัยการสูงสุดได้เสนอนายกรัฐมนตรี ขอให้นำความกราบบังคมทูลขอพระราชทาน พระบรมราชานุญาตให้สำนักงานอัยการสูงสุดใช้รูปพระมหาพิชัยมงกุฎ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตราแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติใช้ตราแผ่นดิน ร.ศ. 108 มาตรา 2 และ มาตรา 4 นายกรัฐมนตรีได้ดำเนินการขอพระราชทานให้และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้รูปพระมหาพิชัยมงกุฎประกอบเป็นเครื่องหมายราชการของสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งต่อมาก็ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดภาพเครื่องหมายราชการตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการพุทธศักราช 2482 (ฉบับที่ 129) ประกาศ ณ วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2535 กำหนดเครื่องหมายราชการของสำนักงานอัยการสูงสุดอย่างเป็นทางการขึ้นไว้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของกรมอัยการและสำนักงานอัยการสูงสุด

ใกล้เคียง

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ไทย) สำนักพระราชวัง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานสอบสวนกลาง สำนักนายกรัฐมนตรี (ประเทศไทย) สำนักงานราชบัณฑิตยสภา สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ สำนักข่าวไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ